สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี แสดงให้เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของผู้ประกอบการหลังโควิด 19 อย่างชัดเจน
สสว.ระบุว่า ณ สิ้นปี 65 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 1,604,487 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.4 ของจีดีพีรวมของประเทศ ขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากปี 64 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวนั้น มาจากการท่องเที่ยวซึ่งส่งผลต่อเอสเอ็มอีในภาคการค้าและภาคการบริการที่สามารถกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด19
ทั้งนี้ การฟื้นตัวในภาพรวมได้ส่งผลให้การจ้างงานของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นด้วย โดย ณ สิ้นปี 65 เอสเอ็มอีมีการจ้างงานแรงงาน 12.74 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70.99 ของจำนวนการจ้างงานทั้งระบบ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.08 ในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานของเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคมรวม 4,074,240 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 และแนวโน้มดีต่อเนื่องมาถึงเดือน ม.ค. 66 ที่พบว่าเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคมมีการจ้างงานทั้งสิ้น 4,542,330 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.49 จากสิ้นปี 65 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนก่อนหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ให้นโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น สสว. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ให้มีการสนับสนุนและสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่เอสเอ็มอี ในฐานะที่เป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ทางด้านมาตรการด้านเงินทุนรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 ตลอดจนการมีโครงการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุน เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน โครงการทางด่วนแก้หนี้โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีเอสเอ็มอีได้รับความช่วยเหลือ 279,685 บัญชี และเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์พักหนี้ 466 ราย