นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" ระบุว่า ถั่วเหลือง เต้าหู้… หัวใจและสมอง
คนไทยและคนในทวีปเอเชียต่างมีวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิต ส่งเสริมสุขภาพของตนเองด้วยวิธีธรรมชาติ การกินอาหารและสมุนไพรต่างๆ จากบรรพบุรุษจนปัจจุบันยังคงมีชีวิตหล่อหลอมร่างกายและจิตใจเป็นหนึ่ง
ลักษณะแบบแผนดังกล่าวเริ่มรวนเร เมื่อวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามามีบทบาท
ในปี 2019 รายงานการศึกษาในวารสารสมาคมโรคหัวใจของอเมริกา ได้ทำการวิเคราะห์หลักฐานทั้งหมด ผลของระดับไขมันเลวยังคงลดลง เมื่อบริโภคถั่วเหลือง ควบรวมเข้าไปด้วย โดยผลดังกล่าวสอดคล้องกับผลที่ได้ก่อนปี 1999
การศึกษาตีพิมพ์ในวารสารหลอดเลือด 23 มีนาคม 2020 ผู้ศึกษา นำโดยคุณหมอ Sun จาก Brigham and Woman’s Hospital and Harvard Medical School, Boston ได้ทำการวิเคราะห์ผลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างใน Nurses’ Health Study ทั้งหนึ่ง และสอง และที่ได้จาก Health Professionals Follow-up Study (HPFS)
ผู้วิจัยได้ให้สัมภาษณ์ โดยตอกย้ำถึงความสำคัญของการที่จะป้องกันโรค
โดยเน้นโภชนาการ พืชผักธัญญาหารสุขภาพ เช่นเต้าหู้และผลิตภัณฑ์ที่มาจากถั่วเหลือง เป็นต้น
โดยการที่โภชนาการเหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็น Isoflavones และจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ ร่วมกับการที่ต้องหยุดสูบบุหรี่เด็ดขาด และใช้ชีวิตสุขภาพ
จุดสำคัญที่ทุกคนคงเห็นด้วยกับผลการศึกษานี้ก็คือ การที่ต้องเปลี่ยนอาหารที่ยึดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ มาเป็นที่ได้จากพืช ไม่ว่าจะในรูปแบบของมังสวิรัติหรือเข้าใกล้โดยมีปลาร่วมด้วย และประกบด้วยโปรตีนที่ได้จากถั่วเหลือง
การศึกษาประกอบด้วยการติดตามสตรีจำนวน 74,241 รายในช่วงปี 1984 ถึงปี 2012 และจำนวน 94,233 ราย ในช่วงปี 1991 ถึงปี 2013 จากโครงการ NHS 1 และ 2 ตามลำดับ และบุรุษจำนวน 42,226 รายในช่วงปี 1986 ถึงปี 2012 จากโครงการ HPFS
โดยทุกคนไม่ได้มีโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดและมะเร็งตั้งแต่เริ่มต้น และทุกรายจะมีการบันทึกการรับประทานอาหารประเภทและชนิดต่างๆทุกสองถึงสี่ปี
จากบันทึกประเภทชนิดของอาหารดังกล่าว นำมาซึ่งดัชนีการบริโภคแบบสุขภาพ ซึ่งควบรวมอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร 11 ชนิด อันได้แก่ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช รวมเครื่องดื่มหวาน น้ำตาล และน้ำผลไม้ จนกระทั่งไปถึงถั่วชนิดต่างๆ เนื้อแดง เนื้อที่ผ่านกระบวนการ ไขมันทรานส์ กรดไขมันสายยาว (n3 long chain fatty acids) ไขมันไม่อิ่มตัว ปริมาณเกลือโซเดียมและแอลกอฮอล์
มีการติดตามลักษณะ การดำเนินชีวิต ทั้งน้ำหนัก การออกกำลัง โรคประจำตัว การใช้ยา รวมกระทั่งถึงอาหารเสริม ภาวะก่อนหรือหลังหมดระดู ประจำเดือน การใช้ฮอร์โมนเสริมหลังหมดประจำเดือน ประวัติตนเองและครอบครัวเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ภาวะเบาหวาน ความดันและไขมันสูงผิดปกติ
ในช่วงของการติดตาม ปรากฏว่ามีเหตุของเส้นเลือดหัวใจตัน ที่ไม่ทำให้เสียชีวิตหรือถึงแก่เสียชีวิตเป็นจำนวน 8,359 ครั้ง ใน 4,826,122 personyears และในช่วงกึ่งกลางของการติดตาม จะมี 24.1% ของจำนวนที่ศึกษา บริโภคเต้าหู้มากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
* การที่บริโภคอาหารที่มีสัดส่วนของ isoflavone จะล้อตามไปกันกับการเน้นรับประทานผัก ออกกำลังกายมาก และการที่มีคะแนน AHIE สูง เมื่อมามองดูที่การบริโภคเต้าหู้ ถั่วเหลือง ก็พบความสัมพันธ์อย่างเดียวกันโดยมักจะเป็นบุคคลที่มีคะแนน AHIE สูง เน้นผักผลไม้ และลดการบริโภคเนื้อสัตว์และไขมันทรานส์
การบริโภคอาหารที่มี isoflavone สูง จะผกผันกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ โดยปรับตัวแปร คะแนน AHIE อายุ เพศ เชื้อชาติ เศรษฐฐานะ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ สูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ระดับของการออกกำลัง การเสริมวิตามิน การใช้ยาป้องกันเส้นเลือดตีบแอสไพรินประวัติความดันสูง ไขมันสูง ประวัติ เส้นเลือดหัวใจตันในครอบครัว ภาวะของประจำ เดือน การใช้ฮอร์โมนหลังหมดประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิดลักษณะขนาดน้ำหนักตัว (BMI) และเฉลี่ยของพลังงานที่ได้จากการกิน
การบริโภคเต้าหู้และเหตุของโรคหัวใจและโรคของเส้นเลือดตัน พบประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน แต่มีข้อแตกต่างตรงที่ น้ำเต้าหู้ ไม่แสดงประโยชน์อย่างเต้าหู้
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นเนื่องจากในน้ำเต้าหู้นั้นจะมีการปรุงแต่งโดยการใส่น้ำตาลหรือมีสารประกอบชนิดอื่น ซึ่งอาจจะลดทอนผลประโยชน์ที่ได้จาก isoflavones
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพฮอร์โมนเพศหญิง พบว่าการบริโภคเต้าหู้อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับไม่บริโภคเลย จะพบว่าเต้าหู้จะให้ประโยชน์กับสตรีที่ยังไม่หมดระดูและสตรีที่ไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเมื่อหมดระดูหรือประจำเดือนไปแล้ว
สตรีที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน จะไม่ได้ประโยชน์จากเต้าหู้
เต้าหู้ ช่วยเส้นสายใยเชื่อมโยงสมอง ผ่านทาง แบคทีเรียในลำไส้
รายงานในวารสาร Alzheimer’s and dementia : Translation of research and clinical interventions วันที่ 18 มิถุนายน 2020
พบว่าการบริโภคเต้าหู้ซึ่งเป็นอาหารประจำอยู่แล้วในคนญี่ปุ่น ให้ประโยชน์ ต่อการทำงานสมองส่วนสีขาวที่ประกอบด้วยเส้นสายโยงใย เพื่อเชื่อมโยงการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาทส่วนต่างๆ และทุกระบบเข้าด้วยกัน
(วารสารหลอดเลือด 23 มีนาคม 2020 พบว่าน้ำเต้าหู้จะมี ประโยชน์ น้อยกว่าเต้าหู้ ทางหัวใจและเส้นเลือด)
ประโยชน์นั้น จะเกิดต่อเมื่อเต้าหู้เมื่อตกถึงกระเพาะและลำไส้ จะถูกทำการย่อยสลายด้วยแบคทีเรียกลุ่มจำเพาะ และทำให้ผลิตสารชื่อ equol
ในทั้งบุรุษและสตรี ที่มีความผิดปกติของสมองในส่วนสีขาว คนที่มีปริมาณของสารequol นี้น้อยจะมีความผิดปกติในสมองส่วนสีขาวมากกว่าถึง 50%
เมื่อทำการศึกษาในคนญี่ปุ่นสูงวัยจำนวน 91 ราย ที่มีการทำงานของสมองปกติ ตั้งแต่เริ่มต้นและประเมินระดับของสาร equol จากนั้นทำการวิเคราะห์สมองด้วยการตรวจคอมพิวเตอร์ หกถึงเก้าปีหลัง พร้อมกับดูการ สะสมตัวของโปรตีนพิษเอมีลอยด์ ที่เป็นผู้ร้ายหลักตัวหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์ โดยพบว่า ถึงแม้การสะสมตัวของโปรตีนพิษจะไม่แตกต่างกันเลยในกลุ่มที่มีสาร equol มากหรือน้อย
แต่การที่มีสาร equol สูงจะได้ประโยชน์ในสมองส่วนสีขาว ทำให้ บรรเทาอาการผิดปกติทางสมองไปได้
ทั้งนี้ การบริโภคเต้าหู้หรือส่วนประกอบของเต้าหู้ที่มี isoflavones สูงก็ตาม จะไม่ได้ประโยชน์กับสมอง
ถ้าไม่สามารถแปลงเป็นสาร equol ได้ ทั้งนี้ สารนี้ได้มีการรายงานมาก่อนว่าสามารถปกป้องโรคหัวใจได้เช่นกัน
ผลที่ได้จากรายงานนี้ตอกย้ำความสำคัญ ของอาหาร และ จำนวนชนิดและความหลากหลายของแบคทีเรียในลำไส้ โดยพบว่า 40-70% ของคนญี่ปุ่นจะมีแบคทีเรียในลำไส้ชนิดที่ให้คุณ ในขณะที่คนอเมริกันจะมีแบคทีเรียชนิดนี้เพียงแค่ประมาณ 20 ถึง 30%
ในส่วนของถั่วชนิดต่างๆจากวารสาร Nutrients ปี 2018 เช่น bean chick pea green pea lentils peanuts ถั่วเหลือง พบว่า
* ถั่วเหลืองจะให้พลังงานต่อ 100 กรัม ได้ 446 กิโลแคลอรี โปรตีน 36.49 กรัม คาร์โบไฮเดรต 30.16 ไขมัน 19.94 ไฟเบอร์ 9.3 กรดไขมันไม่อิ่มตัว (PUFA) 11.255 ธาตุเหล็ก 15.7 มก. และแคลเซียม 277 มก.
นอกจากนั้นปริมาณของถั่วเหลืองและ isoflavones ที่มีการบริโภคต่อวัน ยังมีความแตกต่างกันในคนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ทั้งนี้
โดยที่คนญี่ปุ่นจะบริโภคถั่วเหลืองและอาหารที่มีถั่วเหลืองในปริมาณ 50.7 ถึง 102.1 กรัม โดยมี isoflavones อยู่ที่ 22.6 ถึง 54.3 มิลลิกรัม
และในคนจีน (23.5 ถึง 135.4 และ 6.2 ถึง 75.7 ตามลำดับ) และเกาหลี (21.07 และ 14.88 ตามลำดับ)
ทั้งนี้น่าจะเป็นในเรื่องของปริมาณการบริโภคของคนในแต่ละประเทศมากกว่าในการที่จะได้ isoflavones มากหรือน้อย
ในส่วนที่อาจมีความกังวลในเรื่องที่ถั่วเหลืองจะปฏิบัติตัวเหมือนกับเป็นฮอร์โมนเพศหญิง โดยที่จับกับ estrogen receptor จากการที่โครงสร้างคล้ายกับ 17beta estradiol แต่แท้จริงแล้ว ฤทธิ์ดังกล่าวจะน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ estradiol อีก
ทั้งตัว isoflavones จะเป็น phytoestrogens ที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ตรงไปตรงมาเหมือนกับฮอร์โมนเพศหญิงจริงๆ แต่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระแทน
ดังนั้น ข้อห้ามในการบริโภคถั่วเหลือง หรือถั่วชนิดอื่นๆที่มี isoflavones ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก