xs
xsm
sm
md
lg

ไทยค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก อายุ 150 ล้านปี ที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่วม​กับรองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แถล​งถึง​การ​ค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) ซึ่ง​เป็น​ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของประเทศไทย

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า​ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ถูก​ค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) พบในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย โดยกรมทรัพยากรธรณีดำเนินงานวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคามสำรวจขุดค้น ศึกษา วิจัยซากดึกดำบรรพ์ในพื้นที่แหล่งขุดค้นภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ มาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปี

สำหรับ​แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตร นักวิจัยได้ค้นพบความสมบูรณ์ของตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” เป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดตัวหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ ยังพบร่วมกับซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลากหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น ทั้งปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด และไม้กลายเป็นหิน รวมทั้งไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์กินพืช-กินเนื้อ ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 8 สายพันธุ์ ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีการพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยแห่งนี้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีศักยภาพสูง ก่อนหน้านี้มีการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 7 ชนิด ที่ตีพิมพ์ในบทความทางวิชาการในวารสารระดับนานาชาติร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นชนิดที่ 8 จากแหล่งภูน้อย อีกทั้งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวแรกในพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ฃ

การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของประเทศไทยนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" ซึ่งหมายถึง “นักวิ่งขนาดเล็กจากแหล่งภูน้อย” บ่งชี้ถึงซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ (โฮโลไทป์) ซึ่งใช้เวลาอนุรักษ์ตัวอย่างนานมากกว่า 5 ปี และมีความพิเศษอย่างมาก

สำหรับซากดึกดำบรรพ์นี้ถูกรักษาสภาพในลักษณะโครงกระดูกที่เรียงต่อกัน ประกอบด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกสันหลังส่วนคอไปจนถึงโคนหาง มือซ้าย กระดูกเชิงกราน ขาหลังทั้งสองข้าง แม้กระทั่งเอ็นกระดูกบริเวณสันหลัง นับเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นไดโนเสาร์ที่ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตัวแรกของหมวดหินภูกระดึง โดยมีลักษณะเฉพาะตัวของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ คือ มีสะโพกคล้ายนก (ออร์นิธิสเชียน) ขนาดเล็ก จากผลการวิเคราะห์วงศ์วานทางวิวัฒนาการเผยให้เห็นว่ามันเป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนแรกเริ่มที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความใกล้ชิดกับญาติขนาดเล็กอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงตอนกลางถึงตอนปลายของยุคจูแรสซิกในประเทศจีนและรัสเซีย

ซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังสายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่ค้นพบทั้ง 8 สายพันธุ์ ในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตำบลดินจี่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่

1. ฉลามน้ำจืด อะโครดัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Acrodus kalasinensis)
2. ปลานักล่า อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichthys lertboosi)
3. ปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนน์เคมเป (Ferganoceratodus annekempae)

4. เต่า ภูน้อยคีลีส ธีรคุปติ (Phunoichelys thirakhupti)
5. เต่า กาฬสินธุ์นีมีส ปราสาททองโอสถถิ (Kalasinemys prasarttongosothi)
6. จระเข้ อินโดไซโนซูคัส โปตาโมสยามเอนซิส (Indosinosuchus Potamosiamensis)
7. จระเข้ อินโดไซโนซูคัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Indosinosuchus kalasinensis)
8. ไดโนเสาร์กินพืช มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis)

ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 ทั้งนี้ คาดว่ายังคงมีซากดึกดำบรรพ์อยู่ใต้ชั้นหินอีกจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบการบูรณาการร่วมกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมอื่นอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์จะช่วยส่งเสริมให้อุทยานธรณีกาฬสินธุ์เป็นอุทยานธรณีในระดับประเทศต่อไปได้