xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียมุ่งสู่ดวงจันทร์อีกครั้งกับ“จันทรยาน-3”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 เวลาประมาณ 16:05 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ภารกิจ "จันทรยาน-3" (Chandrayaan-3) ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation: ISRO) ได้ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์จากบริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย คาดการณ์ว่ายานลงจอดพร้อมรถสำรวจ จะลงจอดบนพื้นผิวบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ประมาณวันที่ 23 สิงหาคม 2566

[ภาพรวมของภารกิจจันทรยาน-3]

"จันทรยาน-3" เป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งยานลงจอดและรถสำรวจขนาดเล็ก (มวลประมาณ 26 กิโลกรัม) ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ และปฏิบัติภารกิจนาน 14 วันของโลก (ครึ่งวันของดวงจันทร์) โดยรถสำรวจจะบรรทุกไปกับยานลงจอด และยานทั้งสองส่วนจะบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาพื้นผิวของเพื่อนบ้านที่ใกล้โลกที่สุดดวงนี้

ยานลงจอด "วิกรม" (Vikram) และรถสำรวจ "ปรัชญาน" (Pragyan) ในภารกิจจันทรยาน-3 จะใช้ชื่อและรูปแบบเหมือนกับยานในภารกิจจันทรยาน-2 ซึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 ยานลงจอดวิกรมในภารกิจจันทรยาน-2 สามารถร่อนลงถึงระดับความสูง 5 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ จนกระทั่งถึงขั้นตอน "การเบรคชะลออัตราเร็วขั้นสุดท้ายของยาน" แต่เกิดปัญหาขึ้นกับซอฟต์แวร์ของยานจนร่วงลงพุ่งชนดวงจันทร์ ซึ่งยานลูนาร์ รีคอนเนสเซนส์ ออร์บิเตอร์ (LRO) ของนาซา ได้ตรวจพบเศษซากของยานลงจอดกระจายตัวไปประมาณ 750 เมตรจากพื้นที่ลงจอด

แม้ว่าการลงจอดของยานจะล้มเหลว แต่ภารกิจจันทรยาน-2 ก็ไม่ได้ล้มเหลวทั้งหมด เพราะภารกิจนี้ยังมียานโคจรรอบดวงจันทร์ที่ยังคงปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์อยู่จนถึงปัจจุบัน และทั้งภารกิจจันทรยาน-2 และจันทรยาน-3 ต่างกำหนดพื้นที่ลงจอดของยานที่บริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ที่ซึ่งหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วใต้นี้มีน้ำแข็งในบริเวณก้นหลุมที่ตกอยู่ในเงามืดอย่างถาวร

ISRO ได้พยายามถอดบทเรียนจากยานลงจอดวิกรมในภารกิจจันทรยาน-2 ด้วยการปรับปรุงซอฟต์แวร์ยานลงจอดและทดสอบยานลงจอดวิกรมของภารกิจจันทรยาน-3 มากขึ้น เพื่อให้ภารกิจจันทรยาน-3 สามารถเป็นไปตามแผน นอกจากนี้ ในภารกิจนี้ยังมีโมดูลเครื่องยนต์จรวดบรรทุกยาน ที่หลังจากยานลงจอดแยกตัวลงไปจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์แล้ว โมดูลตัวนี้ยังคงโคจรรอบดวงจันทร์ และใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์วัดสเปกตรัมของโลก เพื่อศึกษาโลกโดยสมมติว่าโลกเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะช่วยสนับสนุนการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในอนาคตต่อไป

[ยานในภารกิจจันทรยาน-3 จะลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์อย่างไร?]

ภารกิจจันทรยาน-3 จะใช้เวลาประมาณ 40 วัน นับตั้งแต่ปล่อยจรวดจนถึงขั้นตอนลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์

ภารกิจนี้ใช้จรวดรุ่น LVM3 เป็นจรวดบรรทุกสัมภาระขนาดกลางที่อินเดียผลิตเอง มีศักยภาพสามารถบรรทุกสัมภาระหนัก 8 ตันไปยังวงโคจรระดับต่ำรอบโลก (Low Earth Orbit : LEO) โดยปล่อยจรวดจากศูนย์อวกาศสติศ ธวัน (Satish Dhawan Space Center) ในเกาะศรีหะรีโกฏา รัฐอานธรประเทศ บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย

จรวด LVM3 จะปล่อยยานในภารกิจนี้เข้าสู่วงโคจรรูปวงรีรอบโลก ก่อนที่โมดูลจะจุดจรวดเพื่อเพิ่มอัตราเร็วและปรับการโคจร จนกระทั่งเข้าสู่เส้นทางมุ่งสู่ดวงจันทร์

เมื่อยานเดินทางถึงดวงจันทร์ ยานจะค่อย ๆ ปรับวิถีให้สามารถโคจรรอบดวงจันทร์ในวงโคจรรูปวงกลม ที่ระดับความสูงราว 100 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ จากนั้น ยานลงจอดที่บรรทุกรถสำรวจอยู่ภายใน จะแยกตัวออกมาเพื่อร่อนลงสู่พื้นที่ลงจอด บริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งในจังหวะที่ยานลงจอดถึงพื้นผิวดวงจันทร์ ตัวยานลงจอดควรมีอัตราเร็วในแนวดิ่งน้อยกว่า 2 เมตร/วินาที และอัตราเร็วในแนวราบน้อยกว่า 0.5 เมตร/วินาที

[ยานในภารกิจจันทรยาน-3 จะปฏิบัติภารกิจอะไรบ้าง?]

หากยานในภารกิจจันทรยาน-3 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ จะเป็น #ก้าวสำคัญ ในการสำรวจอวกาศของ ISRO และประเทศอินเดีย ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ หลังจากอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ และจีน

ตามแผนของภารกิจจันทรยาน-3 หลังจากยานลงจอดบนดวงจันทร์ไม่นาน จะกางแผงทางด้านข้างเป็นทางลาดเพื่อปล่อยรถสำรวจลงสู่พื้นผิว แล้วรถสำรวจที่ติดอยู่ใต้ท้องยานลงจอดจะเคลื่อนตัวมาตามทางลาดนี้ แล้วเริ่มสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์

ทั้งยานลงจอดและรถสำรวจจะใช้แผงเซลล์สุริยะในการผลิตพลังงานไฟฟ้า จะศึกษาพื้นผิวดวงจันทร์และสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวนาน 15 วัน (ตามความยาวนานของช่วงกลางวันบนดวงจันทร์) แต่ยานทั้งสองไม่สามารถอยู่รอดได้ในช่วงกลางคืนอันหนาวเหน็บบนดวงจันทร์ รถสำรวจปรัชญานจะติดต่อสื่อสารกับยานลงจอดวิกรมได้เท่านั้น ขณะที่ยานวิกรมสามารถติดต่อสื่อสารโดยตรงกับศูนย์ควบคุมภาคพื้นโลกได้ ซึ่งทาง ISRO กล่าวว่ายานโคจรรอบดวงจันทร์จากภารกิจจันทรยาน-2 สามารถใช้เป็นตัวส่งต่อสัญญาณระหว่างยานลงจอดกับโลกได้

อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 2 ตัวบนรถสำรวจ
>>LIBS : เครื่องตรวจวัดสเปกตรัมของไอที่ได้จากการยิงแสงเลเซอร์ลงสู่หินหรือดิน ใช้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและแร่ของวัสดุบนพื้นผิวดวงจันทร์
>> APXS : เครื่องตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีเอ็กซ์จากอนุภาคแอลฟา ใช้ศึกษาองค์ประกอบธาตุต่าง ๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์ โดยเฉพาะแมกนีเซียม อลูมิเนียม ซิลิกอน โพแทสเซียม แคลเซียม ไททาเนียม และเหล็ก

อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 4 ตัวบนยานลงจอด
>> RAMBHA : อุปกรณ์ศึกษาด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่าง ๆ ของสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับแก๊สและพลาสมา
>> ChaSTE : อุปกรณ์ศึกษาคุณสมบัติทางความร้อนของพื้นผิวดวงจันทร์
>> ILSA : อุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนบนดวงจันทร์ เพื่อศึกษาแผ่นดินไหวและคลื่นไหวสะเทือน ณ พื้นที่ลงจอด สำหรับศึกษาเปลือกดวงจันทร์ที่อยู่ลึกใต้พื้นผิวและชั้นแมนเทิลต่อไป
>> LRA : อุปกรณ์สะท้อนแสงเลเซอร์ย้อนกลับทิศทางเดิมจากนาซา ใช้ในการวัดระยะทางด้วยแสงเลเซอร์ (Laser ranging) โดยวัดระยะเวลาที่ยิงสัญญาณเลเซอร์จากโลก สะท้อนที่กระจกบนดวงจันทร์กลับมายังโลก แล้วคำนวณระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์