xs
xsm
sm
md
lg

กรมการค้าภายในย้ำผู้ผลิตอาหารสัตว์คงราคาเดิม หากต้นทุนวัตถุดิบลดต้องปรับราคาลดตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยง พบว่าสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวแล้ว บางรายการเริ่มอ่อนตัวลง มีผลผลิตมากขึ้น เช่น ถั่วเหลือง โดยประเทศอาร์เจนตินา และบราซิล เพิ่มพื้นที่ในการปลูกมากขึ้น ถือว่าสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ผ่านช่วงราคาสูงสุดไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังจากนี้จะต้องมีการจับตาผลผลิตว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญอีกมากน้อยแค่ไหน แต่ในช่วงนี้กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังคงราคาจำหน่ายไว้ในราคาเดิมก่อน และหากต้นทุนวัตถุดิบลดลง จะต้องมีการปรับราคาอาหารสัตว์ลดลงด้วย

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงนั้น เบื้องต้นได้จัดทำโครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ปี 2566 วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำนวนไม่เกิน 10 ตัน ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งความจำนงในการซื้อกับทางโรงงานที่เข้าร่วมโครงการกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสหกรณ์ต่างๆ ได้โดยตรง โดยโครงการดังกล่าวยังถือเป็นโครงการนำร่องระยะเวลา 1 เดือน หากเห็นผลจะมีการพิจารณาขยายระยะเวลาต่อไป เพื่อช่วยเกษตรกรในเรื่องการลดต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์

นอกจากนี้ ต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ลดลงในสัปดาห์นี้ มันสำปะหลังลดลงเหลือกิโลกรัมละ 3.30 บาท อ่อนตัวลงจากสัปดาห์ก่อนที่ราคา 3.35 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคากิโลกรัมละ 11.15 บาท อ่อนตัวลงจาก 11.28 บาท ในสัปดาห์ก่อน ปาล์มน้ำมัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5.65 บาท โดยประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกได้มีการปรับสูตรการใช้น้ำมัน B100 เพิ่มขึ้น ทำให้มีการส่งออกน้อยลง เป็นสัญญาณบวกที่จะทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยสตอกน้ำมันปาล์มดิบ ในประเทศเวลานี้ยังคงอยู่ที่ 220,000-230,000 ตัน เป็นต้น

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกร จะเป็นการจ่ายเงินชดเชยค่าอาหารสัตว์ให้เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อ กิโลกรัมละ 1 บาท ปริมาณรายละไม่เกิน 10 ตัน สูงสุดไม่เกินรายละ 10,000 บาท ระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตร (คชก.) ประมาณ 8 ล้านบาท โดนยผู้ขอรับการสนับสนุน ต้องเป็นผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อย รายเล็ก และรายกลาง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์ และได้รับมาตรฐานระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (จีเอฟเอ็ม) โดยมีจำนวนการเลี้ยงตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ ผู้เลี้ยงสุกร ต้องไม่เกิน 5,000 ตัว ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไม่เกิน 100,000 ตัว และผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไม่เกิน 100,000 ตัว คาดว่า จะมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 800 ราย

ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสนับสนุนค่าบริหารจัดการรายละไม่เกิน 10,000 บาท ได้แก่ การซื้ออาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูป เป็นการซื้อจากผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะจากกรมปศุสัตว์ หรือสหกรณ์การเกษตรที่ผลิตอาหารสัตว์ หรือสหกรณ์ผู้รับจำหน่ายอาหารสัตว์ ระยะเวลาการซื้ออาหารสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2566 โดยยื่นขอรับเงินสนับสนุนได้ตั้งวันที่ 13 กรกฎาคม - 12 สิงหาคม 2566