xs
xsm
sm
md
lg

กรมการแพทย์แนะ 4 วิธีปฏิบัติตนเมื่อมีอาการท้องผูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ท้องผูก คือ ภาวะการถ่ายอุจจาระยาก หรือห่างผิดปกติ ร่วมกับ อุจจาระที่มีลักษณะแข็งหรือแห้งผิดปกติด้วยเช่นกัน ส่วนท้องผูกเรื้อรัง หมายถึง ภาวะท้องผูกที่เป็นต่อเนื่องกันนานเกิน 3 เดือน นอกจากนี้ยังพบบ่อยในผู้ที่มีภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารที่มีกากใยสูง ผู้ที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย และที่สำคัญคือผู้ที่มีภาวะเครียดทางอารมณ์ สำหรับการปฏิบัติตัว อาจปรับเปลี่ยนสุขนิสัย ได้แก่

1. การดื่มน้ำให้มากพอ อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน ภาวะขาดน้ำจะทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง ยิ่งทำให้การถ่ายอุจจาระยาก

2. การรับประทานอาหารเส้นใยสูง คือ ผัก ผลไม้ ทั้งนี้เส้นใยจากอาหาร นอกจากจะเป็นโครงให้อุจจาระมีความฟู ถ่ายง่ายแล้ว เส้นใยจากอาหารยังเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ ลดการรับประทานเนื้อสัตว์และแป้ง เพราะจะส่งผลให้ท้องผูกเป็นมากขึ้น

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่งเหยาะๆ ช่วยสนับสนุนให้มีการบีบตัวของลำไส้

4. การทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียด

ทั้งนี้ หากมีภาวะท้องผูกในกรณีต่อไปนี้ ได้แก่ 1.มีถ่ายอุจจาระปนเลือด 2.ผอมลงมาก 3.คลำได้ก้อนที่ท้อง 4.ปวดท้องรุนแรง 5.อ่อนเพลีย 6.ท้องอืดรุนแรง 7.ปัญหาเริ่มต้นหลังวัย 50 และ 8.อาการเป็นมากขึ้นหลังจากการรักษาแบบปรับเปลี่ยนสุขนิสัยแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป