xs
xsm
sm
md
lg

SCB EIC คาดส่งออกไทยปี 66 ขยายตัว 0.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SCB EIC มองการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากกว่าที่เคยประเมินไว้ จากแรงหนุนสำคัญจากจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน การนำเข้าสินค้าไทยของจีนในเดือนพฤษภาคม กลับมาหดตัวแรงอีกครั้ง -11.2% หลังขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ 8.2% ในเดือนเมษายน สอดคล้องกับภาพรวมการนำเข้าของจีนส่วนใหญ่ยังหดตัวต่อเนื่องมา และภาพรวมการส่งออกของจีนหดตัวแรง -8% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ตามอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแอ รวมถึงดัชนี Flash Manufacturing PMI ในเดือนมิถุนายน ของประเทศคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในภาวะหดตัวจากอุปสงค์สินค้าที่อ่อนแอ นำโดย US Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ในระดับ 46.3 (48.4 ในเดือน พ.ค.) Eurozone Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 43.6 ต่ำสุดในรอบ 37 เดือน UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 46.2 Japan Manufacturing PMI พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ 48.4 หลังจากขยายตัวได้ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ 50.8 ในเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม ภาพการส่งออกของไทยในระยะต่อไปยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง หลังจากการส่งออกรวม 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ขยายตัว 5.3% ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำ หลังจากหดตัวแรง -16.1% YOY ในเดือนก่อนจากปัจจัยฐานสูง หากพิจารณาเฉพาะการส่งออกของเกาหลีไต้ไปตลาดจีนหดตัวน้อยลงติดต่อกัน 4 เดือนมาอยู่ที่ -11.2% ส่วนอุปทานคอขวดที่คลี่คลายใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด สะท้อนจากอุปสรรคการขนส่งและปัญหาขาดแคลนคอนเทนเนอร์ที่บรรเทาลง ระยะเวลาขนส่งที่ปรับเร็วขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด และค่าระวางเรือได้ลดลงใกล้เคียงค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตโควิดแล้ว ในระยะต่อไปคาดว่าการส่งออกของไทยจะฟื้นตัวในลักษณะ Uneven โดยสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ แม้การส่งออกสินค้าบางส่วนไปยังหลายตลาดจะมีทิศทางแผ่วลง

ในภาพรวม SCB EIC ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออก ของไทยในปี 2023 จาก 1.2% มาอยู่ที่ 0.5% จากกิจกรรมภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังไม่ชัดเจน รวมถึงความเสี่ยงสงครามภายในรัสเซียที่อาจปะทุขึ้นอีกและนำไปสู่การเร่งตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและเงินเฟ้อโลกได้ อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (El Nino) อาจส่งกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยจะขาดแคลนในระยะต่อไป