GISTDA ร่วมกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ภายใต้ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดการประชุมรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการดาวเทียมวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ NGSO ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขัน การเปิดตลาดเสรีที่เหมาะสม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น GISTDA กสทช. หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ในการให้บริการและกำกับดูแลกิจการดาวเทียม ร่วมกับบริษัทชั้นนำจากเอเชียและยุโรป เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566 ณ ห้องลาดพร้าว 1-3 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการจัดประชุมต่อเนื่องจากคราวที่แล้วที่จัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
การจัดประชุมรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่มในรอบนี้แบ่งเป็น 2 หัวข้อที่สำคัญ ประกอบด้วย รอบเช้าเป็นการประชุมเกี่ยวกับ “Chinese Satellite/Constellation perspective in 21st Century” ร่วมกับบริษัท YINHE HANGTIAN (BEIJING) INTERNET TECHNOLOGY COMPANY LIMITED หรือ GALAXYSPACE จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับเกียรติจากคุณ Isabel Liu, Vice president คุณ Mr. Wang Peng และคุณ Peter Huang, GALAXYSPACE โดยมี ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนรอบบ่ายเป็นการประชุม “EU Ambitions in the next decade: NGSO satellite Strategy & Business” จาก EUTELSAT ผู้ให้บริการดาวเทียมของฝรั่งเศส ให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชีย อเมริกา และได้รับเกียรติจากคุณ Sam Narayanan, EUTELSAT Asia โดยมี ศ.ดร. มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ และคุณ David Vaccaro เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยทั้ง 2 ห้วข้อ มีผู้เข้าร่วมรับฟัง ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงาน กสทช. สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หน่วยงานภาคเอกชน อาทิ Thaicom mu Space Corp R V Connex หน่วยงานภาคการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมาก โดย GISTDA จะมีการประชุมรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่มอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 และจะนำข้อสรุปไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แนวทางการอนุญาตกำกับดูแลและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันที่เหมาะสมในการให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ NGSO ของประเทศไทย และนโยบายการส่งเสริมการเกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทย ต่อไป
โดยสาระและข้อเสนอแนะจากวันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานด้านการให้บริการดาวเทียมของประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ โดยเฉพาะการสร้างดาวเทียมเองในประเทศในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน ในอนาคต 4 – 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากจากการศึกษาและพัฒนาดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ NGSO อาทิ การเกิดขึ้นของ 6G ที่สามารถทำให้การสื่อสารเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกเวลา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ดาวเทียมประเภท NGSO ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนในหลากหลายด้าน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ดาวเทียมสำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการให้บริการเชิงพาณิชย์ในหลายประเทศทั่วโลก นับว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานดาวเทียมให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกที่ทุกเวลา โดยระบบดาวเทียมของกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กมีผู้ให้บริการหลากหลายและมีการแข่งขันเชิงพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การมีตลาดที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม จะทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนและผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาพัฒนาบริการ โดยลดต้นทุนและลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง รวมทั้งลดอัตราค่าบริการ เพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น การแข่งขันที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมจะทำให้ราคาต่ำลงและคุณภาพการให้บริการที่สูงขึ้น