เมื่อเวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร่วมกับนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 และคณะ เดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีการเสนอออก พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. อุ้มหาย อันเข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้เสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน/อุ้มหาย ออกไปจากเดิมที่กฎหมายดังกล่าวต้องถูกนำมาบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 วรรคแรก ในการออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่มีความพร้อมด้านการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การบันทึกภาพในขณะจับกุมและคุมขังบนรถและห้องขังในสถานีตำรวจ ฯลฯ
แต่ทว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวถูก ส.ส.จำนวน 99 คนเข้าชื่อกันเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 หรือไม่ ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมา 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ทำให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวตกไปไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้กฎหมายอุ้มหายต้องย้อนกลับไปบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่กฎหมายกำหนดแต่เดิม
การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในการประวิงเวลาการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมาน/อุ้มหายดังกล่าว เป็นการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจงใจที่จะฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะ ม.53 จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้แล้วนั้น การกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชาติบ้านเมือง ระบบนิติรัฐ นิติธรรม
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงร่วมมือกับญาติวีรชนพฤษภา 2535 จึงจะนำความมาร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวน เอาผิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานทางจริยธรรมที่ผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดต่อไป