xs
xsm
sm
md
lg

ราชกิจจาฯ เผยแพร่บัญชีเงินค่าตอบแทนใหม่ เปิดเงินเดือนกรรมการ ป.ป.ท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พ.ศ. 2566 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ และพระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.2566 เป็นต้นไป)

ทั้งนี้ ในมาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้ ระบุว่า ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยไม่รวมถึงกรรมการโดยตำแหน่ง

สำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ปัจจุบันมี นายพีรพล พิชยวัฒน์ เป็นประธานกรรมการ ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย

1.นายชาติชาย สุทธิกลม
2.นายพิทยา บุญชู
3.นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์
4.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์
5.พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล
6.นายนิวัติไชย เกษมมงคล

โดยประธานกรรมการได้รับเงินเดือน 62,000 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 42,550 บาท/เดือน รวมเป็น 104,550 บาท/เดือน ส่วนกรรมการได้รับเงินเดือน 61,000 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท รวมเป็น 102,500 บาท (ดูบัญชีเงินเดือนท้ายข่าว)

ทั้งนี้ ยังไม่นับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น เช่น ค่าเดินทาง ค่ารับรอง ค่าเลี้ยงรับรอง บำเหน็จตอบแทน การประกันสุขภาพ รถประจำตำแหน่งพร้อมพนักงานขับรถ ค่าอุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น