นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ครั้งที่ 1/2566 ว่า เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ. อุ้มหาย มีผลใช้บังคับ ซึ่งแม้ว่าจะเกิดความล่าช้าไป 3 เดือน แต่ในช่วงนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องจัดหาซื้อเครื่องมือและอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อไปแล้ว จึงได้เวลาประชุมจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีตนเป็นประธาน และมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดหลายกระทรวง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการที่จะมาประชุมกันเพื่อออกกฏหมายลูก ซึ่งจะต้องวางกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งกฎหมายกำหนดเรื่องการให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม ขั้นตอนการจัดเก็บจนกว่าจะจบคดี ก็จะหารือกันและออกเป็นระเบียบขึ้นมา เช่น การจัดเก็บวิดีโอในคลังข้อมูล รวมถึงใครจะสามารถดึงไปใช้ในคดีได้ หลังจากประชุมเสร็จจะนำไปปฏิบัติได้ทันที
สำหรับงบประมาณดำเนินการ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว ระหว่างที่กฎหมายยังไม่ได้ใช้บังคับ ตั้งแต่ยังไม่ยุบสภา แต่ขณะนี้ยังซื้ออุปกรณ์ได้ไม่ครบถ้วน เนื่องจากต้องจัดหาซื้อเป็นจำนวนมาก งบประมาณในการจัดซื้อมี แต่ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตว่ามีอุปกรณ์เพียงพอหรือไม่ และการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องเป็นในรูปแบบของการประมูล เพื่อไม่ให้เกิดการฮั้วขึ้น
ส่วนสถานะของรัฐบาลที่เปลี่ยนเป็นรัฐบาลรักษาการ จะมีอำนาจแตกต่างกับก่อนยุบสภาฯ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากไม่ยุบสภาฯ มาก่อนจะมีผลกระทบ เพราะหากออกพ.ร.ก.มาแล้วไม่ผ่าน รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่หากไม่ผ่านโดยสภาฯหมายความว่าสภาฯไม่ไว้วางใจ แต่หากไม่ผ่านโดยศาลแปลว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีนัยยะที่แตกต่างกัน
นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน เช่น กรณีสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ออกพระราชกำหนดและสภาฯ ไม่ผ่านความเห็นชอบ พล.อ.เปรมก็รับผิดชอบด้วยการยุบสภา ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาหรือลาออก ดังนั้น เมื่อรัฐบาลยุบสภาแล้วไม่มีปัญหา การแสดงความรับผิดชอบไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย แต่เป็นมารยาททางการเมือง แต่หากมีคนไปร้องเรียนเอาผิดรัฐบาล ก็สามารถทำได้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเอาผิดในข้อหาอะไร