ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ข่าวลือหรือข่าวจริง ช่วงเลือกตั้ง 2566" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข่าวลือหรือข่าวจริงช่วงเลือกตั้ง 2566
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนต่อข่าวพรรคการเมืองมีการใช้ปฏิบัติการสร้างข่าว ปั่นกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อโจมตีพรรคการเมืองคู่แข่ง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 31.22 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 25.27 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 23.59 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 19.31 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความเชื่อของประชาชนต่อข่าวพรรคการเมืองมีการใช้ปฏิบัติการสร้างข่าว ปั่นกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อเพิ่มคะแนนนิยมให้กับพรรคตนเอง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 30.08 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 27.40 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 22.06 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 19.54 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความเชื่อของประชาชนต่อข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแทรกแซงจากต่างชาติ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 56.56 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 22.21 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 11.76 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 8.17 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 1.30 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชน ในช่วง 6 สัปดาห์ของการหาเสียง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 30.92 ระบุว่า จำนวนมากกว่า 20 ข่าว รองลงมา ร้อยละ 22.29 ระบุว่า จำนวน 1-5 ข่าว ร้อยละ 16.26 ระบุว่า จำนวน 6-10 ข่าว ร้อยละ 13.66 ระบุว่า ไม่เคยได้ยินเลย ร้อยละ 10.15 ระบุว่า จำนวน 11-15 ข่าว และร้อยละ 6.72 ระบุว่า จำนวน 16-20 ข่าว