xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด กทม.คาดคนกรุงใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.กว่า 72%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังตรวจการปิดการลงคะแนนเลือกตั้งและนับคะแนนเลือกตั้ง ณ เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 1 และ 2 แขวงเสาชิงข้า เขตพระนคร บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภาพรวมการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,327 หน่วย มีเพียง 2 หน่วยที่มีปัญหาคือ เขตห้วยขวาง เจ้าหน้าที่ฉีกบัตรขาด ได้มีการรายงานเหตุการณ์ไปยัง กกต.กทม. และส่งไปยัง กกต.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป อีกเขตหนึ่งคือ เขตมีนบุรี ใส่บัตรเลือกตั้งในหีบใบเดียวกัน จนถึงเวลา 10.00 น. ภายหลังได้แยกหีบเป็น 2 ใบ ซึ่งในการนับคะแนนจะต้องนับแยกบัตร หากจำนวนบัตรตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ก็ไม่มีปัญหา ส่วนหน่วยเลือกตั้งอื่นๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ในส่วนของผลคะแนนที่แน่นอน คงต้องรอให้ทั้ง 33 เขตเลือกตั้ง ส่งคะแนนมาที่ศูนย์ประสานงานฯ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครก่อน คาดว่าประมาณเวลา 22.00 น.จะพอทราบผลคร่าวๆ สำหรับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ คาดว่าจะมากกว่าปี 2562 ซึ่งมีประชาชนชาวกรุงเทพฯ ออกมาใช้สิทธิกว่าร้อยละ 72

สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ โดยมีเหตุจำเป็น อาทิ ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ เป็นผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ เป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ พักอาศัยห่างไกลจากหน่วยเลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง หรือเหตุผลอื่นๆ ต้องแจ้งเหตุภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2566 โดยทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ได้ ระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านให้ชัดเจน ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยสามารถยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งทางแอปพลิเคชัน "Smart Vote" หรือแจ้งทางเว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวย้ำว่า ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกตั้งวันจริง 14 พฤษภาคม จะต้องแจ้งเหตุไปไม่ใช้สิทธิ์ด้วย ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิบางประการ ดังนี้ 1. ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. 2. ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. 3.สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 4.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และ 5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะถูกจำกัดสิทธิ ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง