รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ตัวเลขรายสัปดาห์ 16-22 เมษายน 2566
จำนวนผู้ติดเชื้อป่วยนอนรักษาตัวใน รพ. 1,088 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 150% หรือมากขึ้นถึง 2.5 เท่า
จำนวนเสียชีวิต 5 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 2.5 เท่า
ปกติแล้วการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมักมีการเหลื่อมเวลาไปราว 2 สัปดาห์จึงจะเริ่มพอประเมินได้
คาดประมาณจำนวนติดเชื้อใหม่รายวันอย่างน้อย 7,772-10,794 ราย
จะสังเกตได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลในแต่ละสัปดาห์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 2.59 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยสัปดาห์แรกนั้นขึ้นทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงสงกรานต์ ดังนั้นจึงเป็นตัวสะท้อนว่าการระบาดที่ปะทุขึ้นมานั้นเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว
สอดคล้องกับธรรมชาติของแต่ละระลอกที่ผ่านมา ที่มักมี grace period อยู่ราว 6-8 สัปดาห์ ไม่ได้เป็น seasonal pattern แต่เป็นไปในแบบ cyclical pattern ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการเปิดเสรีเดินทางท่องเที่ยว พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตปนะจำวัน และการถดถอยของภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงได้ตามกาลเวลา
Non-pharmacological interventions คือการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตท่ามกลางโรคระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
ติดแต่ละครั้ง ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก