xs
xsm
sm
md
lg

“หมอดื้อ”เผยสมองเสื่อมวัยชราพุ่งสูง ตรวจรู้ล่วงหน้าช่วยได้ เอาชนะได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า สมองเสื่อมวัยชราพุ่งสูง ตรวจรู้ล่วงหน้าช่วยได้ เอาชนะได้

หมอเองติดโควิด (10/6/65)
* 13 วันต่อมามีอาการเอ๋อ แต่อัลไซเมอร์โปรตีนยังไม่มา
* 100 วันจากติดโควิด สมองดี แต่โปรตีนพิษมาเยอะ…..
* ปรับสุขภาพ อาหาร ออกกำลัง แดด 5 เดือน ต่อมา (19/2/66) หายเกลี้ยง

ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ที่ต้องรับมือกับการดูแลสุขภาพอนามัยผู้สูงวัยโดยเฉพาะ “โรคอัลไซเมอร์” เป็นสาเหตุของอาการสมองเสื่อมในวัยชราอายุ 60 ปีขึ้นไปที่นับวันจะมีแนวโน้มพบมากขึ้น
คาดคะเนกันว่าอีก 10 ปีข้างหน้านั้น “ผู้ป่วยโรคนี้จะเพิ่มขึ้นหลาย ล้านคน” ในกลุ่มผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดได้ถึง 1 ใน 10 และกลุ่มอายุ 85 ปี มีโอกาสเสี่ยง 1 ใน 3 ที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมกลายเป็นปัญหาใหญ่ให้ครอบครัวทำงานนอกบ้าน “ทิ้งผู้สูงอายุอยู่บ้านลำพัง” อาจเกิดการบาดเจ็บกะทันหันนำสู่ภาวะติดเตียงตามมา

จริงๆแล้ว “โรคสมองเสื่อมไม่ใช่ทุกคนต้องเป็นเมื่อแก่ชรา” แต่เป็นโรคที่ป้องกันได้ถ้าเข้าใจกลไกการเจริญวัยของสมองที่ดี อันมีสาเหตุจากโรคอัลไซเมอร์ก่อตัวในสมองตั้งแต่มีสติปัญญาเฉียบแหลมพัฒนา 15 ปี
แล้วค่อยเริ่มอาการทวีความรุนแรงหลงลืมสับสนพฤติกรรมประสาทหลอนมากขึ้น เพราะเซลล์สมองตายจนเหลือน้อยทำงานปกติไม่ได้

เหตุนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดกิจกรรมสบายสมอง Strong & Healthy พบปะพูดคุยแนะนำภาวะเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมนี้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หน.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ บอกว่า ในช่วงการระบาดโควิด-19 มีการศึกษาผู้ป่วยติดเชื้อทั้งแสดงอาการ และไม่แสดงอาการ “เมื่อหายป่วยหลายคนต้องเผชิญกับอาการลองโควิด” โดยเฉพาะบางคนกลับพบอาการลักษณะของโรคสมองเสื่อมภายหลังจากการติดเชื้อใน 80-100 วัน
ยกตัวอย่างเช่น “ตัวเองติดเชื้อโควิดเมื่อเดือน มิ.ย.2565” มีอาการหลงลืมบ่อยทำให้ต้องเจาะเลือดตรวจหลังหายป่วย 88 วัน

“ผลการตรวจพบว่ามีอาการอัลไซเมอร์โผล่ขึ้นในสมอง” อันเป็นการปรากฏภาวะแทรกซ้อนจากลองโควิดในระยะยาว สิ่งนี้เป็นผลรู้ล่วงหน้าอันเป็นความท้าทายต่อการหยุดยั้งโรคนี้ให้ได้ต่อไป

เช่นเดียวกับ “ฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นสาเหตุให้สมองเสื่อม” เพราะฝุ่นพิษแทรกซึมเข้าเลือดกระจายไปทุกส่วนในร่างกาย “ก่อให้เกิดการอักเสบอวัยวะ” กลายเป็นโรคทางหัวใจ โรคมะเร็ง และสมองเสื่อมตามมาด้วย

ต่อมา “ยากระตุ้น” ควรหลีกเลี่ยงยาขึ้นชื่อแอนตี้ ยาโรคซึมเศร้า ยาแก้ปวด ยาโรคพาร์กินสัน “ยานี้จะกระตุ้นสมองทำงานหนัก” โดยเฉพาะยารักษาโรคกรดไหลย้อนมักเกิดโอกาสเสี่ยงสมองเสื่อมอย่างอัลไซเมอร์

ตามข้อมูลรายงาน “วารสารแพทย์สหรัฐอเมริกาปี 2017” กรณีการกินยารักษากรดไหลย้อนเป็นเวลานานติดต่อกัน 6 เดือน “ส่งผลให้ไตเสื่อมสภาพมากกว่า 50% พร้อมเสี่ยงเป็นสมองเสื่อมด้วย” จากนั้นไม่นานบริษัทยาก็ออกมาชี้แจงว่า “ไม่เป็นความจริง” ดังนั้นเราควรต้องกินยาอย่างสมเหตุสมผลให้มีความปลอดภัย

ในส่วน “ยาแก้แพ้ แก้เวียนเมารถ เมาเรือ ยาหดหู่ซึมเศร้า ยาลด ปัสสาวะบ่อย” ในทางประสาทวิทยาระบุว่า การกินยานี้ติดต่อกันนาน 6-9 เดือน มักมีผลข้างเคียงให้เกิดสมองฝ่อ และสมองเสื่อมเร็วมากยิ่งขึ้น

ถัดมา “การกินวิตามินบี 6 ช่วยบำรุงสมองระบบประสาท” แต่ถ้ากินมากก็มีผลต่อเส้นประสาท ลักษณะชาแสบร้อนตามปลายเท้าปลายมือ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในบางรายกล้ามเนื้อกระตุกจนเสียการทรงตัวก็มีดังนั้นใครกินวิตามินบี 6 ต้องดูฉลากเตือนห้ามกินเกิน 10 มก./วัน เพราะวิตามินบางยี่ห้อปรับปริมาณสูง 250-500 มก.

ยิ่งไปกว่านั้นคือ “การเสริมแคลเซียม” ตามปกติเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว “เส้นเลือดฝอยในสมองจะตีบและอุดตัน” ทำให้เกิดแผลเป็นเล็กๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตเกิดขึ้น

“การเสริมแคลเซียมเข้าไปช่วยแผลเป็นเล็กๆนั้น” อาจทำให้มีความเสี่ยงสมองเสื่อมสูงขึ้น 3 เท่า

ส่วนสำหรับ “ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์อยู่แล้ว” เมื่อได้รับแคลเซียมเพิ่มเข้าไปย่อมมีความเสี่ยงต่อสมองเสื่อมสูงกว่า 7 เท่า

สิ่งนี้กำลังสะท้อนว่าการกินแคลเซียมไม่มีประโยชน์ แต่กลับเพิ่มโทษต่อสมองมากขึ้นอีกด้วยซ้ำ

ถ้าพูดถึง “การนอนมากก็เสี่ยงสมองเสื่อมได้” เพราะจริงๆแล้วทุกคนมีกลไกการควบคุมการตื่น และหลับ ที่เป็นเหมือนกับการเปิด-ปิดสวิตช์ “อันมีกลุ่มเซลล์สมองเป็นตัวกระตุ้น” แต่มีข้อสังเกตเมื่อเข้าห้องนอนแล้ว “คนนั้นหลับยากตื่นบ่อย และพอถึงเวลาปลุกตื่นยากอีก” สิ่งนี้เป็นสัญญาณเตือนสมองเสื่อมทั้งสิ้น

อีกการนอนงีบหลับกลางวันก็เป็นสัญญาณเตือนสมองเสื่อมเช่นกัน เพราะคนปกติจะงีบกลางวันเฉลี่ยอยู่ที่ 11 นาที ถ้าเริ่มมีสมองเสื่อมมักงีบหลับเพิ่มขึ้นสองเท่า 24 นาที/วัน หากอาการรุนแรงจะงีบหลับนานขึ้นเป็น 66 นาที/วัน แล้วการงีบหลับมากกว่า 1 ชม./วัน หรือมากกว่า 1 ครั้ง/วัน มักมีโอกาสเสี่ยงพัฒนาเป็นสมองเสื่อม 40%

ผู้ชายสูงอายุงีบหลับกลางวันมากกว่า 2 ชั่วโมง/วัน มักมีสติปัญญาเสื่อมถอยมากกว่าคนที่งีบหลับน้อยกว่า 30 นาที/วัน อย่างไรก็ตาม การงีบ กลางวันนี้ไม่นับรวมการนอนชดเชยกรณีช่วงตอนกลางคืนนอนหลับไม่เพียงพอ

ประเด็นว่า “โรคสมองเสื่อมสามารถชะลอไม่ให้ลุกลามเร็วได้” ด้วยการตรวจให้รู้ก่อนเกิดการสูญเสียความทรงจำ “ทำให้มีโครงการแผนพัฒนาเชิงรุกสบายสมองอินิชิเอทิฟส์” โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พัฒนาวิธีตรวจโรคสมองเสื่อมในเลือดที่รวดเร็วแม่นยำ

“หากตรวจพบโรคอัลไซเมอร์ในระยะฟักตัวกล่าวคือ ระยะที่ยังไม่มีอาการ หรือไม่มีการสูญเสียเซลล์สมองมากจะสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดสมองเสื่อม เช่น รักษาความดันโลหิต ออกกำลังกาย เลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงยาที่เร่งให้เกิดสมองเสื่อม และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ว่า

ส่วน “การกินอาหารมีประโยชน์เพื่อช่วยชีวิตนั้น” อย่างเช่น ปลา อาหารทะเล ผักผลไม้ ถั่วทุกชนิด โดยเฉพาะน้ำมันมะกอกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่บริโภคกันมานานกว่า 2,000 ปี

โดยมีงานวิจัยพิสูจน์ว่าน้ำมันมะกอกชนิดบริสุทธิ์พิเศษ ที่เรียกว่า Extra-virgin olive oil (EVOO) มีประโยชน์ในสมองเสื่อม

ในปี 2017 นักวิทยายาศาสตร์จาก Temple University, Philadelphia, Pennsylvania ศึกษาในหนู 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกได้รับอาหารที่มีน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ และกลุ่มที่ 2 เป็นอาหารธรรมดาเมื่อหนูอายุ 12 เดือน ทำการตรวจสมองหาค่าการสะสมสารพิษในสมองอันเป็นลักษณะสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ลดลง
แล้วน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ยังสามารถกระตุ้นให้กระบวนการใช้พลังงานของเซลล์ประสาทอย่างมัธยัสถ์ และนำขยะที่ได้จากการทำงานไปทำลายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังมี “Mediterranean diet” เป็นแนวทางการกินอาหารผสมผสานสไตล์การกินแบบเมดิเตอร์เรเนียนผนวกเข้ากับสไตล์การเลือกกินอาหารต้านความดันสูง “พริกหวานสีแดง” ก็มีสารนิโคตินมีฤทธิ์ต่อต้าน อนุมูลอิสระสูงช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ช่วยชะลอความสมองเสื่อม 30%

สิ่งสำคัญคือ “เบียร์สามารถลดความเสี่ยงสมองเสื่อมได้” ตามรายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกา (JAMA network open) ปี 2023 สรุปกรณีกลุ่มผู้ดื่มระดับน้อยถึงดื่มปานกลางนั้น “ลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมลง” ในส่วนการลดปริมาณจากดื่มหนักเป็นดื่มปานกลางก็จะลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมเช่นกัน
ขณะเดียวกัน “การไม่ดื่มแล้วมาเริ่มดื่มบ้างในปริมาณน้อยจะลดความเสี่ยงสมองเสื่อม” แต่กลุ่มที่ดื่มหนักนั้นมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น 8% ดังนั้นการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมมักเกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้

สุดท้ายย้ำว่า ทุกคนมีโอกาสกลายเป็น “สมองเสื่อมแบบไม่รู้ตัว” แต่ถ้ารู้จักป้องกันในการใช้ชีวิตดูแลสุขภาพแต่เนิ่นๆ ด้วยการกินอาหารปลอดสารเคมี ลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดน้ำหวาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ไปด้วยกัน...

จากสกู๊ป หน้าหนึ่ง ไทยรัฐ

ชุดความรู้วิธีการปฎิบัติตนให้ปลอดจากโรค ใช้ยาสมเหตุสมผล และแม้เกิดโรคแล้วชะลอได้