วันนี้ (5 เม.ย.) เวลา 09.00 น. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ผู้แทนสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สำนักอนามัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักพัฒนาสังคม สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเขตที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกับจังหวัดปริมณฑล บริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวงชนบท การประปานครหลวง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) การเคหะแห่งชาติ ผู้แทนจังหวัดปริมณฑล และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกิ่งเพชร ชั้น 3 โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี
กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จึงกำหนดให้มีการประชุมกลุ่มจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา รวมถึงจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นพื้นที่มีมีความเชื่อมโยงกัน เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประมวลผลและกำหนดแนวทางการปรับปรุงข้อกำหนดเสนอแนะมาตรการทางผังเมืองและมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร รวมถึงมีการบูรณาการด้านนโยบายและการวางผังร่วมกันอย่างเป็นระบบ การประชุมเป็นในรูปแบบไฮบริด (Hybrid) ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online) ร่วมกับการประชุมในสถานที่ (Onsite) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 100 คน และได้รับเกียรติจากผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ในเรื่องผังนโยบายระดับประเทศ และผังนโยบายระดับภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญต่อกรุงเทพมหานครเป็นอย่างยิ่งเสมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ที่มีการพัฒนาเมืองไปด้วยกันตลอดมา โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง แนวถนนวงแหวนรอบที่ 3 ถนนสายหลักระหว่างจังหวัด รวมถึงมีความสัมพันธ์อย่างเกื้อกูลกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน การเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ มีการพัฒนาระบบเมืองและพื้นที่ชุมชนที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนเกือบเป็นเนื้อเมืองเดียวกัน ปัจจัยดังที่กล่าวมานี้ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดข้างเคียง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องร่วมกันวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การประสานการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีการบริหารจัดการและประสานแผนงานให้เป็นระบบและสอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ และมาตรการทางผังเมืองให้สอดคล้องและเกื้อหนุนกัน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป