xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยเผยวิธีลดอ้วนช่วงเด็กปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงปิดเทอมเด็กๆ อยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมส่วนใหญ่ของเด็กเปลี่ยนไป จะนอนดึก ตื่นสาย พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะใช้เวลาในการเล่นเกมส์เล่นโทรศัพท์ งดมื้อเช้า เลือกกินขนม น้ำอัดลม น้ำหวาน และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ

ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลภาวะโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า เด็กไทยติด 1 ใน 3 ของอาเซียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้น เป็น 2 เท่า อีกทั้ง 1 ใน 2 ของเด็กอายุ 12 ปี ดื่มเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน และ 1 ใน 3 ของเด็กไทยกินขนมถุงเป็นประจำทุกวันมากกว่า 2 ครั้ง

นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า 9 ใน 10 ของเด็กไทย เห็นสื่อโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ซึ่งการเห็นสื่อโฆษณาบ่อยๆ จะกระตุ้นการกินของเด็กทำให้อยากได้ อยากกินตามโฆษณา และมากกว่า 3 ใน 4 ของเด็กไทยที่ไม่เห็นข้อความเตือน ในโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม ช่วงปิดเทอมพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรใส่ใจในการดูแลพฤติกรรมสุขภาพของเด็กเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอาหารและโภชนาการ ควรจัดอาหารให้มีคุณค่าและถูกหลักโภชนาการ ทั้งปริมาณ และความเหมาะสมกับวัย ใน 1 วัน ควรกินอาหารที่หลากหลาย และครบ 5 หมู่ ซึ่งเด็กอายุ 6 - 14 ปี ควรได้รับพลังงานเฉลี่ยที่ 1,600 กิโลแคลอรี โดยในแต่ละวันควรกินข้าวหรือแป้ง จำนวน 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ จำนวน 6 ช้อนกินข้าว ผัก จำนวน 12 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว และให้มีผลไม้ 6 – 8 ชิ้น พอดีคำทุกมื้อ อาจชวนเด็กฝึกปรุงอาหารของตนเอง โดยลดหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น รวมทั้งเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็งพร้อมทาน ควบคุมการซื้อขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวานจัด น้ำอัดลม ชานมไข่มุก และจัดเตรียมนมรสจืดและผลไม้ที่เด็กๆ ชอบไว้ในตู้เย็นแทน และให้ดื่มน้ำสะอาด 6 - 8 แก้วต่อวัน ที่สำคัญ ควรส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย จนรู้สึกเหนื่อยอย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง10 นาทีขึ้นไป) เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ทำงานบ้าน งานสวน เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เพื่อการมีสุขภาพที่ดี และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9- 11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และ 8 - 10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี)