เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า เนื่องจากวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ตรงกับวันที่ 1 เดือนชะบาน (Shaban เดือนที่ 8 ในปฏิทินอิสลาม) ฮ.ศ. 1444 ดังนั้นวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไปคือช่วงเวลาเย็นหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันที่ 29 เดือนชะบาน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน (Ramadan เดือนที่ 9 ในปฏิทินอิสลาม) ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1444
หากผลการสังเกตดวงจันทร์ในวันเวลาดังกล่าว มีผู้คนสังเกตเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก ชาวไทยมุสลิมก็จะกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันเริ่มต้นเดือน หรือวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1444
แต่หากในวันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า “ไม่มี” ผู้คนเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก ชาวไทยมุสลิมจะนับให้วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันที่ 30 เดือนชะบาน (Shaban) หรือเป็นวันสุดท้ายของเดือนชะบาน ฮ.ศ. 1444 และเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว ก็จะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่ทันที และนับให้วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 ตรงกับวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566
สำหรับข้อมูลของดวงจันทร์ ดวงจันทร์ดับเกิดขึ้นในวันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลาประมาณ 00:24 น. ดังนั้น ในช่วงเวลาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (Hilal) หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566 ในเขตพื้นที่ประเทศไทย อายุดวงจันทร์ประมาณ 18 ชั่วโมง
#สงขลา (อ.เมือง) ดวงจันทร์ลับขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ 39 นาที
ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลา 18:28 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 271 องศา
ดวงจันทร์ลับขอบฟ้า เวลา 19:07 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 273 องศา
#กรุงเทพมหานคร ดวงจันทร์ลับขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ 40 นาที
ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลา 18:29 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 271 องศา
ดวงจันทร์ลับขอบฟ้า เวลา 19:09 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 273 องศา
#เชียงใหม่ (อ.เมือง) ดวงจันทร์ตกหลังดวงอาทิตย์ 41 นาที
ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลา 18:35 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 271 องศา
ดวงจันทร์ลับขอบฟ้า เวลา 19:16 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 273 องศา
หมายเหตุ - การกำหนดวันที่ 1 ของเดือนกอมารียะห์ (เดือนของปฏิทินอิสลาม) ให้ยึดผลการสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) หรือผลประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นหลัก