นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อในปัจจุบัน ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยเพียงเล็กน้อย สะท้อนจากมูลค่าการค้ารวม (ทั้งการส่งออกและนำเข้า) ของไทยกับรัสเซีย-ยูเครน ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับการค้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงาน รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ในตลาดโลก ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้างทั่วโลก
รวมถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก อีกทั้งความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุน โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานต่อต้นทุนรวมในการผลิตสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ร้อยละ 30.56 เหล็กและเหล็กกล้า ร้อยละ 20.03 ผลิตภัณฑ์พลาสติก ร้อยละ 10.48 ยางรถยนต์ ร้อยละ 7.37 และเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ร้อยละ 5.61
สำหรับภาพรวมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี น้ำมัน และปุ๋ยเคมี โดยรัสเซียส่งออกปุ๋ยเคมีมากที่สุดในโลก ประมาณ 50 ล้านตันต่อปี ซึ่งในปี 2565 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย อยู่ที่ 10,141.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.41 ของการนำเข้าจากรัสเซียทั้งหมด ทั้งนี้ หากสงครามยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการปรับราคาปุ๋ยเคมีและส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าหลักในการส่งออกของไทย ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม คือ บราซิลเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียมากที่สุด และเป็นประเทศผู้ส่งออกถั่วเหลืองอันดับ 1 ของโลก และส่งออกข้าวโพดเป็นอันดับ 2 ของโลก หากราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพด ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ไทยจึงได้รับผลกระทบด้วย จากปี 2565 ไทยนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิล ร้อยละ 76 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 53,954 ล้านบาท ส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์ และสะท้อนไปสู่ราคาเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
นางวรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจยังคงไม่มีข้อสรุปในเวลาอันใกล้นี้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์เพื่อหาแนวทางปรับตัว ได้แก่ การแสวงหาหุ้นส่วนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีลดต้นทุนร่วมกัน (Cost Sharing) เช่น การทำ MOU เพื่อแลกเปลี่ยนทางการค้าที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยหาประเทศที่เป็นมิตรต่อกัน เพื่อลดการพึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่พร้อมขยายช่องทางการตลาด โดยเฉพาะในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น เอเชียใต้ ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง และการขยายช่องทางการตลาดเพิ่มเติมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมทั้งสื่อดิจิทัล ที่มีส่วนช่วยให้โปรโมทสินค้าได้ ง่ายขึ้น ช่วยให้การทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง