xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยแนะ 6 วิธีปรุงอาหารป้องกันไข้หวัดนก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีพบเด็กหญิงชาวกัมพูชา อายุ 11 ปี เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก H5N1 ที่ประเทศกัมพูชา รวมถึงบิดาของเด็กหญิงก็ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ส่งผลให้มีผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศกัมพูชา จำนวน 2 ราย นั้น สำหรับในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด โดยกรมอนามัยแนะนำประชาชนและผู้ประกอบการ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแต่ไม่ควรประมาท หากพบสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ เป็ด ตายเป็นจำนวนมาก หรือ ตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย และห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปกินหรือให้สัตว์อื่นกินโดยเด็ดขาด กรณีการเลือกซื้อสัตว์ปีกที่มีชีวิต ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอาศัยอยู่ด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าอาหารในตลาดสดต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด โดยล้างทำความสะอาดตลาดบริเวณจุดเสี่ยงเป็นประจำทุกวัน และให้ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลเป็นประจำทุกเดือน ผู้สัมผัสหรือผู้ปรุงประกอบอาหารต้องไม่ใช้มือที่หยิบ จับไก่ดิบหรือเปื้อนมาจับจมูก ตาและปาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับเนื้อสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน หากมีบาดแผลที่มือต้องปกปิดแผลให้มิดชิด และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสอาหาร ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่สด เป็ดสด จากเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว และเขียงผัก ผลไม้โดยเฉพาะ ควรเลือกเนื้อไก่และเป็ดจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานหรือร้านค้าประจำที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจจะตายด้วยโรคติดเชื้อ เช่น เนื้อมีสีคล้ำ มีจุดเลือดออก ส่วนไข่ให้เลือกซื้อฟองที่ดูสดใหม่ไม่มีมูลไก่หรือเป็ดติดเปื้อนที่เปลือกไข่ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร ควรปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนให้อาหารสุกอย่างทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 °C ขึ้นไป อย่างน้อย 5 นาที ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรครวมทั้งยาฆ่าแมลงตกค้าง หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที กรณีทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์หรือมีประวัติสัมผัสซากสัตว์ต้องแจ้งแพทย์ด้วย