นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปาท่องโก๋ นอกจากจะติดอันดับของหวานสตรีทฟูดแล้ว จากข้อมูลสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ปี 2559 ยังระบุว่าปาท่องโก๋ เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย ในหมวดกลุ่มเบเกอรี และอาหารว่างอีกด้วย แต่สำหรับคุณค่าทางโภชนาการ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า ปาท่องโก๋ 100 กรัม ให้พลังงานถึง 441 กิโลแคลอรี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาด ว่าตัวเล็ก หรือตัวใหญ่ ปาท่องโก๋เป็นขนมที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันอิ่มตัว รวมทั้งให้พลังงานสูง เหมาะผู้ที่ต้องการเพิ่มพลังงาน แต่ก็มีโซเดียม จากผงฟูหรือเกลือปรุงรสสูงด้วย จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษ และโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ปาท่องโก๋ส่วนใหญ่ จะนิยม ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งก่อให้เกิดสารโพลาร์ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ดังนั้น วิธีกินปาท่องโก๋แบบไม่อ้วนและครบถ้วนคุณค่า จึงควรเลือกปาท่องโก๋ ที่ใช้น้ำมันใหม่ในการทอด สังเกตได้จากสีที่เป็นน้ำตาลอ่อน และไม่ควรกินเกิน 2 คู่ต่อวัน อาจกินพร้อมโจ๊ก ไข่ต้ม เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีน หรือ กินกับผลไม้ไม่หวานจัด น้ำเต้าหู้ชนิดไม่หวาน เพิ่มธัญพืช เช่น ถั่วแดง เม็ดแมงลัก ข้าวบาร์เล่ย์ หรือลูกเดือย เพื่อเพิ่มใยอาหารช่วยดักจับไขมัน และเลี่ยงการกินปาท่องโก๋แบบจิ้มกับดิปปิ้งอื่นๆ ชาไทย หรือ ชาเย็น 1 แก้ว ปริมาณ 200 มิลลิตร ให้พลังงานประมาณ 430 กิโลแคลอรี ทั้งนี้ ในแต่ละวัน ร่างกายไม่ควรได้รับน้ำตาลที่มากเกิน 6 ช้อนชา ดังนั้น หากดื่มบ่อยหรือเป็นประจำทุกวัน จะทำให้เกิดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนลงพุงได้ วิธีดื่มชาไทยแบบใส่ใจสุขภาพ คือ ควรสั่งแบบหวานน้อย ไม่เกิน 2 ช้อนชา รวมทั้งความหวานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล นมข้น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม หรือไซรัปในเครื่องดื่มชงเย็นทุกประเภท ไม่เกิน 2 ช้อนชาเช่นเดียวกัน