xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.นัดชี้ขาดพรุ่งนี้ สูตรคิด ส.ส.นับรวมราษฎรต่างด้าวหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 3 มีนาคม เวลา 09.30 น. มีกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการประกาศจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ซึ่งคิดคำนวณจำนวน ส.ส. โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มาใช้คิดคำนวณ ส.ส. แบบแบ่งเขต ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคดีเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม เวลา 09.30 น.

ทั้งนี้ มีรายงานว่า สำหรับแนวทางการวินิจฉัยมีด้วยกัน 2 แนวทาง แนวทางแรก คือการดำเนินการของกกต.ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การจัดการเลือกตั้งที่เตรียมไว้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนแนวทางที่สอง ศาลชี้ว่าไม่สามารถนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ทำให้ กกต. ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในการคำนวณจำนวนส.ส.แต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกต. ได้เตรียมแผนรองรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วทุกทาง ทั้งแนวทางเดิมที่นับจำนวนราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทย หรือยึดการแบ่งเขต 400 เขตตามเดิม กับแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจชี้ขาดไม่นับราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาเป็นราษฎรในการคำนวนแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยสำนักงาน กกต. แจ้งให้ กกต. แต่ละจังหวัดดำเนินการแผนรองรับในการคำนวณใหม่ หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่ให้นับราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย จะมีผลกระทบต่อจำนวนราษฎรที่แบ่งเขตไว้ร้อยละ 10 ส่งผลทำให้มี 8 จังหวัดมีความเปลี่ยนแปลง คือ 4 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลง คือ 1. ตาก 2. เชียงราย 3. เชียงใหม่ และ 4. สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่จำนวน ส.ส. เพิ่ม คือ 1. อุดรธานี 2. ลพบุรี 3. นครศรีธรรมราช และ 4. ปัตตานี จากการคำนวนโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ 65,106,481 หารด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต คือ 162,766 ซึ่งเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมราษฎรที่นับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยคือ 165,226 คนต่อเขต

สำหรับความคืบหน้าการแบ่งเขตของ กกต. ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยครบทุกจังหวัดทั้ง 400 เขตแล้ว หากศาลวินิจฉัยว่าการดำเนินการของกกต.ถูกต้อง จะส่งรูปแบบการแบ่งเขต จำนวน 400 เขต ไปประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป