xs
xsm
sm
md
lg

‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’สั่งตรวจสอบเจ้าของที่ดินกลางกรุงดัดแปลงพื้นที่เพื่อเลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่า ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯกทม.ที่รับผิดชอบเรื่องจัดเก็บรายได้ ประเมินที่ดินที่มีการดัดแปลงเป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีทั้งหมด จากการตรวจสอบว่า มีการทำเกษตรจริงหรือไม่ และมีทั้งหมดกี่ไร่ รวมถึงทำให้ กทม.ขาดรายได้เท่าไร เพื่อนำตัวเลขแจ้งต่อรัฐบาลต่อไป โดยคาดว่าจะมีมูลค่าถึงหลัก 100 ล้านบาท

ก่อนหน้านายชัชชาติ ได้ลงพื้นที่เขตราชเทวี พบว่ามีที่ดินแห่งหนึ่งขนาด 7 ไร่ จากการคำนวณ กทม.สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินได้ 4,000,000 บาท แต่ที่ดินดังกล่าวมีการปลูกต้นไม้เพื่อดัดแปลงให้เป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อเลี่ยงภาษี ทำให้ กทม.จัดเก็บภาษีได้เพียง 300,000 บาท

การดัดแปลงที่ดินให้เป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยไม่ได้ทำเกษตรจริง ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และให้ประชาชนเสียภาษีตามทรัพย์สินที่มีอยู่จริง โดยเฉพาะบางพื้นที่ เช่น เขตห้วยขวาง มีจำนวนที่ดินกว่า 100 ไร่ ซึ่งอยู่กลางเมือง แต่ดัดแปลงให้เป็นพื้นที่การเกษตร กทม.จำเป็นต้องตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล เนื่องจากเป็นรายได้ที่ขาดหายไป

ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำว่า รายได้หลักของ กทม.คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบัน กทม.เก็บข้อมูลพื้นฐานสิ่งปลูกสร้างได้ร้อยละ 96 แบ่งเป็น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงคอนโดมิเนียม ปัจจุบันเก็บข้อมูลเข้าระบบจัดเก็บภาษีแล้วทั้งหมด และอยู่ระหว่างเร่งรัดในการเก็บภาษี แต่ปัญหาที่พบคือ การลดภาษีตามนโยบายของรัฐบาลร้อยละ15 เหลือ ร้อยละ 85 ย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ กทม. ดังนั้น กทม.ได้ตั้งเป้าหมายเก็บภาษีให้ได้มากกว่าปี 2565 โดยการตั้งคณะกรรมการจัดหารายได้ช่องทางอื่นเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีภาษีป้ายและค่าธรรมเนียมรถยนต์ โดยกรมขนส่งทางบกเป็นผู้จัดเก็บให้ กทม. ซึ่งจัดเก็บได้สูงสุดประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยช่วงโควิดที่ผ่านมาจัดเก็บได้ลดลงเหลือ 12,000 ล้านบาท ดังนั้น กทม.จึงมีแนวทางทำ MOU ร่วมกับกรมขนส่งทางบกภายในสัปดาห์นี้ เพื่อ กทม.จะช่วยติดตามทวงถามผู้ที่ไม่ยอมเสียภาษีป้ายฯ เนื่องจากกรมขนส่งทางบกอาจไม่มีแรงจูงใจในการทวงถามภาษีกับผู้ที่ยังไม่ได้จ่าย เพราะรายได้จากภาษีป้ายฯทั้งหมดเป็นของกทม. ส่วนค่าปรับจราจร พบว่า จัดเก็บได้ลดลงกว่า 200-300 ล้านบาท อาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด จึงจัดเก็บได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ต้องหารือกับทางตำรวจต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการแก้ พ.ร.บ.เพื่อให้ กทม.มีอำนาจการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น ภาษียาสูบ ภาษีโรงแรม และภาษีน้ำมันซึ่งภาษีน้ำมัน กทม.มีการจัดเก็บอยู่แล้วแต่อยู่ในอัตราต่ำ ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ตามกฎหมาย พ.ร.บ.กระจายอำนาจ รวมถึง มีแนวทางเรื่องการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีสำหรับผู้ที่สร้างมลพิษ ตามโมเดลของกรุงลอนดอน ซึ่งมีการจำกัดโซนมลพิษต่ำ โดยรถยนต์ที่สร้างมลพิษเกินกำหนดต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมเพิ่ม ในการเข้าพื้นที่มลพิษต่ำตามโซนที่กำหนดไว้ เพื่อควบคุมฝุ่น PM2.5 ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการเตรียมมาตรการ ทั้งกฎหมายยาสูบ น้ำมัน โรงแรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอรัฐบาลและนำมาปรับใช้ต่อไป