xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจรถเช่ารับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้น คาดปี 66 มูลค่าตลาดแตะ 5.1 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่า ปี 2566 มูลค่าตลาดรถเช่าของไทยจะอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 10.2 % เมื่อเทียบกับปี 2565 ขยายตัว 19.6% โดยแยกแนวโน้มแหล่งรายได้ของธุรกิจรถเช่า อาทิ รถเช่าระยะสั้น (ระยะเวลาเช่าน้อยกว่า 1 ปี) คาดว่าจะขยายตัว 33.5% อยู่ที่ 1.13 หมื่นล้านบาท รถเช่าระยะยาว (ระยะเวลาเช่า 1-5 ปี) คาดว่าจะขยายตัว 5.0% อยู่ที่ 4.0 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจไทยดีขึ้น คาดว่าปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัว 3.6% ส่งผลให้การบริโภคเอกชน และการท่องเที่ยวกลับมาเพิ่มความต้องการรถเช่าระยะยาวเติบโต อย่างไรก็ตาม รายได้จากรถเช่าระยะยาวเริ่มทรงตัว ทำให้ผู้ประกอบการรถเช่ารายใหญ่หันไปเพิ่มสัดส่วนรายได้จากรถเช่าระยะสั้นมากขึ้น และ แนวโน้มรายได้จากการจำหน่ายรถใช้แล้วเครื่องยนต์สันดาปลดลง เนื่องจากความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มากขึ้น และส่งผลกระทบทำให้รถยนต์ใช้แล้วเครื่องยนต์สันดาปมีราคาตกลง

โดยช่วง 5 ปี (2558-2562) ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มูลค่าตลาดรถเช่าเติบโตเฉลี่ย 8.0% ต่อปี หลังเกิดโควิดช่วงปี2563-2564 มูลค่าตลาดของธุรกิจรถเช่าระยะสั้นและระยะยาวลดลง 8.9% และ 2.9% ตามลำดับ ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการรถเช่าลดลง โดยรายได้จากรถเช่าระยะสั้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยตรงลดลงถึง 80% จากระดับรายได้ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิดในปี 2562

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ระบุว่า กิจการรถเช่าไทยกระจายอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวมากถึง 75% แต่รายได้กว่า77% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บ่งชี้ถึงการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะรถเช่าระยะยาว จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ผู้ประกอบการรถเช่าในประเทศไทยมีจำนวน 1,186 ราย โดยผู้ประกอบการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ35% ภูเก็ต 7% ชลบุรี 7% เชียงใหม่ 6% สุราษฎร์ธานี 5% นนทบุรี 4% สมุทรปราการ 4% ปทุมธานี 3% และระยอง3% ตามลำดับ

ซึ่งจะเห็นว่ากว่า 75% ของผู้ประกอบการรถเช่ากระจายอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว แต่หากพิจารณาในแง่ของรายได้จะพบว่าพื้นที่ที่มีรายได้จากรถเช่าสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 77% สมุทรปราการ 12% ชลบุรี 3% ปทุมธานี2% และนนทบุรี 1% เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีบริการรถเช่าทั้งแบบรถเช่าระยะยาวให้แก่ลูกค้าบริษัท และแบบรถเช่าระยะสั้นให้แก่ลูกค้าที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ ทำให้มีมูลค่าตลาดจากธุรกิจสูงดังนั้น การแข่งขันในพื้นที่ก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิเคราะห์ ระบุว่า สำหรับภาวะการแข่งขันธุรกิจรถเช่าในปัจจุบันพบว่ามีการแข่งขันสูงเนื่องจากดีมานด์รถเช่าระยะยาวและรถเช่าระยะสั้นค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด โดยธุรกิจรถเช่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย5-8% ต่อปี ผู้ประกอบการรถเช่ารายเดิมและผู้แข่งขันรายใหม่ทั้งจากค่ายรถยนต์ที่เริ่มต่อยอดทำธุรกิจรถเช่า และผู้ลงทุนรายย่อยที่นำรถมาปล่อยเช่าผ่านแพลตฟอร์มรถเช่ารายย่อย พร้อมทั้งแนะผู้ประกอบการรถเช่ารุกทำการตลาดรถเช่าออนไลน์ของตนเองร่วมกับการบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น รถเช่าระยะสั้น ก่อนให้บริการรถเช่าควรอยู่ในสภาพใหม่และสะอาด ลูกค้าสามารถเลือกสถานที่รับและส่งรถเช่าได้ ณ จุดนัดหมายที่ลูกค้าสะดวก ฯลฯ รถเช่าระยะยาว มีการตรวจสอบและบริการการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ให้เช่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความประทับใจในการบริการให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกและบอกต่อแก่ลูกค้าคนอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถทางการแข่งขันทำให้ธุรกิจรถเช่าของผู้ประกอบการเติบโตได้ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน