รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 20 กุมภาพันธ์ 2566
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 67,839 คน ตายเพิ่ม 303 คน รวมแล้วติดไป 678,663,582 คน เสียชีวิตรวม 6,790,861 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ และบาห์เรน
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.08 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 88.44
ผู้ติดเชื้อโควิดที่ป่วยรักษาตัวใน รพ. จะเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าไข้หวัดใหญ่ 1.5 เท่า
Portmann L และคณะจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 5,212 คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หรือ B โดยเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตหลังจากเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนทั้งสิ้น 14 แห่งในสวิสเซอร์แลนด์
ทั้งนี้มีผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 3,066 คน (มากกว่า 95% ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron) อายุมีตั้งแต่ 53-82 ปี และผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จำนวน 2,146 คน อายุตั้งแต่ 59-83 ปี
พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึง 1.54 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.18-2.01 เท่า) ภายใน 30 วันหลังจากที่ติดเชื้อและป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
...ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบถ้วนตามกำหนดจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท
ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง
ช่วยกันปรับสภาพแวดล้อม ที่อยู่ ที่กินดื่ม ที่เรียน ที่ทำงาน ให้ระบายอากาศให้ดี
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดเสี่ยงทั้งจากโควิด-19 และ PM2.5 ลงไปได้มาก
อ้างอิง
Portmann L et al. Hospital Outcomes of Community-Acquired SARS-CoV-2 Omicron Variant Infection Compared With Influenza Infection in Switzerland. JAMA Network Open. 15 February 2023.