นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดกองสลาก) ได้พิจารณาแนวทางการจัดทำผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก (Number 3 : N3) และสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (Lottery 6 : L6) ซึ่งข้อสรุปจะนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ใหม่จะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ นั้น
นายธนากร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้ง 2 รูปแบบ เมื่อพิจารณาสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (Lottery 6 : L6) มองว่ามีรูปแบบคล้ายกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม จึงเกิดการตั้งคำถามว่าการออกสลากใหม่ 6 ตัวนี้ ออกด้วยจุดประสงค์อะไร เช่น เพื่อแก้ปัญหาสลากแพง หรือออกเพื่อทางเลือกให้ผู้ซื้อมากขึ้นเพื่อหารายได้เข้ารัฐเกินควรหรือไม่ ซึ่งยังไม่เห็นแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน หากประเด็นที่ต้องการลดปัญหาราคาสลากขณะนี้มองว่าการดำเนินการขายสลากดิจิทัลเป็นทางเลือกที่ดี เพราะประชาชนสามารถซื้อสลากในราคา 80 บาทได้จริง
ขณะเดียวกัน มองว่าไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ เพราะกังวลจะเกิดปัญหาการขายสลากเกินราคามากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ขายที่ได้โควต้าขายสลากบางรายมักนำสลากที่ซื้อได้ในราคาต้นทุนจริงและนำไปขายต่อเพื่อเพิ่มกำไรได้มากกว่านำไปขายเอง และผู้รับซื้อมือที่ 2 อาจนำไปขายต่อด้วยราคาที่สูงขึ้น ซึ่งสุดท้ายผู้ที่รับซื้อต่ออีกทอดจะโก่งราคาสูงขึ้น และผลกระทบจะตกสู่ประชาชนที่ซื้อสลากแพง โดยที่รัฐ หรือกองสลากไม่สามารถแก้ปัญหาสลากแพงได้จริง
นายธนากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก (Number 3 : N3) มองว่าเป็นการเพิ่มประเภทของสลาก หรือเพิ่มสินค้าให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเล่น หรือลุ้นรางวัล รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการขอผู้ซื้อที่ต้องการลุ้นรางวัลเล็กที่มีโอกาสถูกมากกว่ารางวัลใหญ่ ขณะเดียวกัน กลายเป็นว่าผู้ซื้อมีความต้องการซื้อมากขึ้น ทำให้คนใช้เงินซื้อสลากเพื่อเสี่ยงโชคมากขึ้น เพราะมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อลากหลาย จึงมองว่าการเพิ่มผลิตภัณฑ์เป็นการสร้างความไม่จำเป็นต่อประชาชนให้เลือกซื้อ หรืออาจเป็นการมอมเมาประชาชนได้
ทั้งนี้่ ตั้งแต่มีการขายสลากดิจิทัล มองว่ากองสลากน่าจะมีการทำข้อมูลของผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น ในงวดเดือนต่างๆ มีผู้ซื้อสลาก 1 แอคเคาน์ในจำนวนเท่าใด หรือมีผู้ซื้อสลากในแต่ละงวดเพิ่มขึ้นจากการเฉลี่ยข้อมูลซื้อขายในระบบ ส่วนนี้จึงมองว่ารัฐ หรือกองสลากมีข้อมูลอยู่แล้ว และเชื่อว่าหากมีการจัดทำข้อมูลเพื่อดูสัดส่วนการซื้อและขาย เชื่อว่าการเพิ่มสลาก หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่มีความจำเป็น