xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ"เผยผลวิจัยพบอัตราการป่วยรุนแรงในกลุ่มติดเชื้อโควิดซ้ำ ไม่ได้ลดลงหรือน้อยลงกว่าติดเชื้อครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 13 กุมภาพันธ์ 2566

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 66,901 คน ตายเพิ่ม 308 คน รวมแล้วติดไป 677,593,569 คน เสียชีวิตรวม 6,782,387 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.9 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 91.88

การติดเชื้อซ้ำในเด็กอาจไม่ได้ทำให้ป่วยรุนแรงน้อยลง

Erbas IC และคณะจากตุรกี เผยแพร่ผลวิจัยในวารสารการแพทย์ Archives de Pédiatrie เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา

ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคม 2563-กรกฎาคม 2564 จำนวน 8,840 คน

ในจำนวนดังกล่าวมีคนที่อยู่ในเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อซ้ำ 11 คน โดยเกิดติดเชื้อซ้ำตั้งแต่ 92-483 วันหลังจากติดเชื้อครั้งแรก

ที่สำคัญคือ อัตราการติดเชื้อแบบมีอาการ ไม่มีอาการ ระยะเวลาป่วย และการป่วยรักษาตัวในรพ.นั้นไม่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการป่วยรุนแรงในกลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำนั้นไม่ได้ลดลงหรือน้อยลงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก

ผลการศึกษาจากตุรกีนี้ช่วยสะท้อนให้เราทราบถึงความสำคัญของการป้องกันตัว ไม่หลงไปกับความเชื่อผิดๆ ว่าติดแล้วจะแข็งแกร่ง ติดซ้ำจะรุนแรงน้อยลง

...ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ควรประมาท

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ความใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัว จะช่วยให้มีสวัสดิภาพและความปลอดภัย

อ้างอิง
Erbas IC et al. Evaluation of possible COVID-19 reinfection in children: a multicenter clinical study. Archives de Pédiatrie. 7 February 2023.