xs
xsm
sm
md
lg

“หมอดื้อ”เตือนกินยาซึมเศร้านานๆ เสี่ยงเสียชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า กินยาซึมเศร้านานๆ..เสี่ยงเสียชีวิต

เป็นรายงาน อุบัติการ ยังหาความเป็นเหตุ เป็นผล ได้ไม่ชัดเจน

ยาต้านอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่น่าจะกลายหรือเกือบ กลายเป็นยาสามัญประจำตัวของคนไทยไปแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อทำการซักประวัติ ตรวจคนไข้ และประเมินโรคและยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับจะปรากฎว่า ได้รับยาหดหู่ซึมเศร้า ยาคลายกังวล ทั้งนี้เนื่องจากนอนไม่หลับ ปรับตัวไม่ได้ จนรบกวนชีวิต การทำงานและการบ้าน เป็นจำนวนมากกว่าครึ่ง

ในประเทศอังกฤษเอง ก็เป็นเช่นกัน โดยกลายเป็นกลุ่มประเภทของยาที่นิยมแพร่หลายมากที่สุด และในปี 2018 ปีเดียว มีการสั่งจ่ายถึง 70 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากทศวรรษที่แล้วถึงสองเท่า และคงเป็นเหมือนกันทั่วโลก

จากรายงานของคณะผู้วิจัยของอังกฤษโดยได้รับทุนวิจัยจาก National Institute of Health Research (NI) School for Primary Care Research และจาก the NI Biomedical Research Centre at University Hospitals Bristol and Weston NHS Foundation Trust and the University of Bristol ตีพิมพ์ในวารสารทางจิตวิทยาของอังกฤษ British journal of Psychiatry วันที่ 13 กันยายน 2022

โดยคณะผู้วิจัยได้ ปูพื้นถึงคำแนะนำใหม่ในการใช้ยาต้านหดหู่ซึมเศร้า ในปี 2022 ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้การให้ในระยะยาวเพื่อป้องกันการกำเริบใหม่ หลังจากที่อาการสงบไปแล้ว ควรจะอยู่ที่อย่างน้อย หกเดือน หรือ นานถึงสองปีสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีความหดหู่ซึมเศร้ากำเริบอีก

ทั้งนี้ ในประเทศอังกฤษ พบว่าส่วนใหญ่จะได้รับยาไปยาวนานต่อเนื่องแล้วถึง 5.5 ปี ด้วยซ้ำ โดยที่ไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงผลกระทบทางสุขภาพในการให้ยาตระกูลนี้เป็นระยะเวลายาวนาน

การศึกษาในหลอดทดลองมีรายงานว่ายาต้านหดหู่ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลเสียสมดุลทางเมตาบอลิคของร่างกายและระบบหัวใจและหลอดเลือด

ข้อมูลการติดตามผลกระทบในมนุษย์ ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากระยะเวลาของการติดตามสั้นและนอกจากนั้น ภาวะหดหู่ ยังเกี่ยวโยงไปถึง ความอ้วน โภชนาการที่ไม่ดี การสูบบุหรี่และไม่ออกกำลังกาย

ดังนั้นการศึกษาผลกระทบของยากลุ่มนี้จำเป็นต้องมีความระมัดระวังในตัวแปรเหล่านี้ด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะผู้วิจัยชุดนี้ จึงได้ใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลของอังกฤษ UK Biobank โดยที่คลังบรรจุข้อมูลที่มีความละเอียดทาง อายุ เพศ น้ำหนัก BMI สัดส่วนเอวและก้น เศรษฐานะ พฤติกรรม รวม การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การออกกำลังกาย โรคประจำตัว พื้นฐานสุขภาพ การใช้ชีวิต แม้กระทั่งลึกไปถึง ปัจจัยที่จะส่งผลทำให้เกิดโรค คาร์ดิโอเมตาบอลิค ทั้งหมด โดยรวบรวมไว้ประมาณ 500,000 คน

จากจำนวน 500,000 รายได้ทำการคัดเลือกกลุ่มศึกษาระหว่างปี 2006 ถึง 2010 โดยที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 69 ปี เป็นจำนวน 222,121 ราย โดยทุกคนมีข้อมูลบันทึกล่วงหน้าก่อนที่จะทำการวิเคราะห์อย่างน้อย 12 เดือน และไม่เคยได้รับยาโรคจิต ยาลิเธียม หรือยาสงบอาการคลุ้มคลั่ง หรือเป็นโรคทางคาร์ดิโอเมตาบอลิค อยู่แล้ว และมีการใช้ยารักษา

หลังจากที่ได้ปรับตัวแปรหรือปัจจัยอื่นๆที่จะส่งผลให้เกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease CVD) โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease CHD) และโรคหลอดเลือดสมอง (CV) และการตายจากทุกสาเหตุ
พบว่าการใช้ยากลุ่มนี้ ซึ่งมักจะเป็น mirtazapine, venlafaxine, duloxetine, และ trazodone เป็นส่วนใหญ่ แต่ยาตัวอื่นที่เพิ่ม ซีโรโทนิน selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ก็มีผลด้วยเช่นกัน

โดยทำให้มีความเสี่ยง ของ CHD CVD และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในกรณีการตายจาก CVD ประมาณสองเท่า
ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมอง CV และความเสี่ยงของการตายจากทุกสาเหตุเพิ่มขึ้นสองเท่า

แต่ที่ประหลาดใจ ก็คือ ยากลุ่มนี้กลับลดความเสี่ยงของการที่จะเกิดความดันโลหิตสูง 23% และลดความเสี่ยงของเบาหวานลง 32%

คณะผู้วิจัยไม่สามารถอธิบายได้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อหัวใจและหลอดเลือด จนกระทั่งถึงความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้ง ๆ ที่เหมือนกับว่ามีผลดีต่อการลดความเสี่ยงโรคความดันสูงและเบาหวานด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้ ทำให้จำเป็นต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ยาในระยะยาวว่า อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายได้ โดยก่อนหน้านี้เข้าใจว่าปลอดภัย (harm-free) และต้องมีการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อชั่งน้ำหนักประโยชน์และผลข้างเคียงที่จะได้รับจากการใช้ยา

และในกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ควรต้องมีการติดตามผลกระทบต่อหัวใจและเส้นเลือดเป็นระยะด้วย

ข้อจำกัดของการศึกษานี้ อยู่ที่ไม่สามารถอธิบายความเป็นเหตุและผลของการใช้ยาได้ชัดเจน
โดยที่คนที่มีแนวโน้มที่จะมีอาการหดหู่ซึมเศร้าอาจจะมีความโน้มเอียงที่จะเกิดเรื่องต่างๆเหล่านี้อยู่แล้ว

การที่จะเชื่อมโยงความเป็นเหตุและผลก็ได้นั้นอาจจะต้องมีหลักฐานประกอบตาม Bradford Hill criteria 9 ข้อ กล่าวคือ strength, consistency, specificity, temporality, biological gradient, plausibility, coherence experiment analogy คำอธิบายเหล่านี้เพื่อทำให้หลักฐานความเกี่ยวโยงมีความแน่นแฟ้นขึ้น จากข้อมูลที่ได้ทางระบาดวิทยา

กล่าวโดยสรุป
ข้อมูลเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญให้ทุกคนมีความตระหนักในเรื่องของการใช้ยาและมีความจำเป็นที่ต้องใช้ตัวช่วยอื่นๆ เพื่อบรรเทาและรักษา ก่อนที่จะใช้ยา
และเมื่อใช้ยาแล้วหลีกเลี่ยงการใช้ยาควบกันหลายตัว ไม่ว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือต่างกลุ่มกันก็ตาม
และระยะเวลาที่ใช้ควรเป็นตามความจำเป็นเพื่อไม่ให้ร่างกายเป็นสนามรบของยาในที่สุด พบใครที่มีความทุกข์ ช่วยกันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แล้วเราจะมีความสุขกันทุกคนครับ