xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่า รฟท.สั่งตั้ง กก.ตรวจสอบเหตุกลุ่มผู้ค้าทะเลาะวิวาทที่สถานีรถไฟชุมพร ยันจะไม่ให้มีผู้มีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีเหตุกลุ่มผู้ค้าที่สถานีรถไฟชุมพร ยกพวกรุมทำร้ายร่างกายพ่อค้าแม่ค้าที่ขึ้นไปจำหน่ายสินค้าบนขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพ - สุไหงโกลก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ล่าสุด นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พร้อมกับมีกำหนดลงพื้นที่ภายในวันที่ 9 ก.พ. 2566 เพื่อรับฟังการรายงานผลให้ทราบผลโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นมีการตรวจสอบแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ
1. ด้านผู้ค้าที่ทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบการค้ากับการรถไฟฯ ที่สถานีชุมพร โดยขอเช่าพื้นที่ขนาด 48 ตารางเมตร อัตราค่าเช่าเดือนละ 15,500 บาทต่อเดือน ระยะเวลาสัญญาเช่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 – 15 กันยายน 2566 ตามสัญญาเลขที่ 65410030966 ซึ่งในสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าว ได้ระบุเงื่อนไขการเช่าไว้อย่างชัดเจนว่าผู้เช่าต้องใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อประกอบการค้า เช่น จำหน่ายอาหาร/เครื่องดื่มและสิ่งพิมพ์ หรือสินค้าอื่น ๆ หรือเปิดให้บริการต่าง ๆ สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟและประชาชนทั่วไป แต่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะเดียวกัน ผู้เช่าและพนักงานของผู้เช่าต้องใช้วาจา กิริยา มารยาท ที่สุภาพเรียบร้อย ห้ามก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้โดยสารหรือผู้ที่มาใช้บริการ หรือกระทำการอันใดอันเป็นเหตุให้ภาพลักษณ์ของผู้ให้เช่าต้องเสื่อมเสีย ซึ่งหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดเงื่อนไขการเช่าก็จะพิจารณาตามระเบียบของการรถไฟฯ ต่อไป

2. ด้านผู้ค้าที่จำหน่ายสินค้าบนขบวนรถไฟ ฝ่ายบริการโดยสาร การรถไฟฯ ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 แจ้งขอความร่วมมือให้กวดขัน ห้ามบุคคลนำอาหารและเครื่องดื่มมาจำหน่ายบนขบวนรถ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้บริการว่ามีกลุ่มผู้ค้าลักลอบนำอาหารและเครื่องดื่มมาจำหน่ายบนขบวนรถ สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้โดยสารและอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนกรณีที่พ่อค้าแม่ค้าซื้อตั๋วโดยสารขึ้นไปบนขบวนรถ ให้ถือว่าเป็นผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะเดินทางจากสถานีต้นทางไปยังสถานีปลายทางตามตั๋วโดยสารที่มี และห้ามนำสินค้าเดินเร่ขายบนขบวนรถอย่างเด็ดขาด โดยให้เจ้าหน้าที่ขบวนรถร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟ ดำเนินการกับผู้ค้าดังกล่าวที่ฝ่าฝืน

3. ด้านของการทำร้ายร่างกาย ถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือปล่อยให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาหาผลประโยชน์ในพื้นที่อย่างเด็ดขาด และขอให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา คำนึงความถูกต้อง และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเป็นสำคัญ