xs
xsm
sm
md
lg

โพลหอการค้าฯ เชื่อวาเลนไทน์ปีนี้คึกคัก คาดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ ปี 2566 โดยคาดว่าวาเลนไทน์ปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 15.5 โดยบรรยากาศคึกคักสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ประเทศไทยเริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยเมื่อถามถึงความหมายของคำว่าความรัก โดยแยกตามรุ่น หรือ Generation (Gen) จะพบว่า

- Gen X ส่วนใหญ่ตอบว่า ความรักคือการร่วมทุกข์ร่วมสุข
- Gen Y ส่วนใหญ่ตอบว่า ความรักคือความสุข เช่นเดียวกัน
- Gen Z ที่ส่วนใหญ่ตอบว่า ความรักคือความสุข

สำหรับการไปฉลองวาเลนไทน์ปีนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.2 ต้องการจะไปฉลองวาเลนไทน์กับคนรัก หรือคนรู้ใจ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ร้อยละ 50.8 ตอบว่าไม่ไปฉลอง โดยสถานที่ที่ต้องการไปฉลองวาเลนไทน์มากสุด คือ ห้างสรรพสินค้า รองลงมา คือ คาเฟ่ และร้านอาหาร ส่วนปัจจัยที่ใช้ในการเลือกซื้อของขวัญในวันวาเลนไทน์ 5 อันดับแรก คือ ความชอบของผู้รับ รองลงมา คือ ความสะดวก ประโยชน์ ความนิยม และ ราคา

ส่วนบรรยากาศวาเลนไทน์ปีนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.1 มองว่าเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 29.1 มองว่าคึกคึกกว่าเดิม เพราะมีสถานที่เที่ยวมากขึ้น, คาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และผู้ปกครองไม่อยู่ ส่วนอีกร้อยละ 22.8 มองว่าคึกคักน้อยกว่าเดิม เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น เศรษฐกิจแย่ลง และตกงาน

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่าย เฉพาะการซื้อของมอบให้กับคู่รัก เมื่อจำแนกตาม Gen จะพบว่า Gen X มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,666 บาทต่อคน Gen Y มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,251 บาทต่อคน และ Gen Z มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 823 บาทต่อคน โดยเฉลี่ยแล้วมีค่าใช้จ่ายเฉพาะการซื้อของมอบให้คนรัก 1,100 บาทต่อคน

แต่หากเป็นค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงวันวาเลนไทน์ เมื่อจำแนกตาม Gen จะพบว่า Gen X มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,130 บาทต่อคน Gen Y มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,643 บาทต่อคน และ Gen Z มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,812 บาทต่อคน โดยเฉลี่ยแล้วมีค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงวาเลนไทน์ 1,848 บาทต่อคน

เมื่อถามถึงเหตุผลในการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ปีนี้ เทียบกับปี 2565 กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เพราะสินค้า-บริการแพงขึ้น รองลงมา คือ ค่าครองชีพสูงขึ้น และความต้องการสินค้ามีมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่ามีการใช้จ่ายลดลง เพราะรายได้ลดน้อยลง รองลงมา คือ ประหยัดการใช้จ่าย และสินค้าแพงขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี

ส่วนความคิดเห็นว่าคู่รักในกลุ่มใดที่จะฉลองวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ พบว่า ทุก Gen เห็นว่าจะมีมากที่สุด ในกลุ่มของนักศึกษา ร้อยละ 35.7 รองลงมา คือ กลุ่มวัยทำงาน ร้อยละ 33.% และนักเรียน ร้อยละ 30.6 ตามลำดับ โดยสถานที่ที่คาดว่าจะใช้ฉลองวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด คือ หอพัก หรืออพาร์ตเมนต์ และเมื่อถามถึงการยอมรับได้หรือไม่ หากภรรยา/สามี ของท่านเคยมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานกับท่าน พบว่าส่วนใหญ่ทุก Gen ตอบว่า ยอมรับได้ถึงร้อยละ 70.5 ส่วนที่ยอมรับไม่ได้ มีร้อยละ 29.5

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าบรรยากาศการฉลองวาเลนไทน์ปีนี้ถือว่าคึกคัก แต่อาจจะไม่คึกคักเต็มที่ เนื่องจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีนี้ ตรงกับวันอังคาร ซึ่งเป็นวันธรรมดา ไม่ใช่ช่วงวันหยุด โดยภาพรวมบรรยากาศการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ปีนี้ คาดว่าเม็ดเงินจะสะพัดมากกว่าในปีที่ผ่านมา มูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงสุดในรอบ 4 ปี ทั้งนี้ ยังไม่รวมเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาฉลองวาเลนไทน์ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าวาเลนไทน์ปีหน้า (2567) จะคึกคักมากกว่านี้ เพราะดูจากโครงสร้างเศรษฐกิจ