xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลลุยลงทุนระบบขนส่งทางถนน เติมเต็มโครงข่าย เพิ่มความสะดวกการเดินทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาโครงการขนส่งทางถนนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นหนึ่งในระบบคมนาคมที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนการลงทุน โดยมีเป้าหมายในการยกระดับความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของประเทศให้สนับสนุนภาคเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการได้รับการอนุมัติและเร่งรัดการลงทุนในรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เชื่อมส่วนกลางกับเมืองสำคัญในภูมิภาค ทางพิเศษ และ Missing Link เพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางถนน แต่ละโครงการอยู่ระหว่างการเดินหน้าลงทุนตามแผนงาน เฉพาะปี 2566 นี้จะมีเงินลงทุนจากระบบขนส่งทางถนนทั้งสิ้น 30,960.32 ล้านบาท แยกเป็นการใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน 11,207.32 ล้านบาท และนอกงบประมาณ 19,753 ล้านบาท

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้การลงทุนแต่ละโครงการดำเนินไปตามแผนงานเพื่อให้แล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนใช้บริการตามกำหนด และให้เม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐบาลด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการมอเตอร์เวย์และทางพิเศษเพื่อเชื่อมโยงส่วนกลางไปยังภูมิภาค ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้าร้อยละ 98 ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งระบบดำเนินงานและการบำรุงรักษาคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568 มอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ความคืบหน้างานโยธาร้อยละ 85 คาดว่าจะเปิดบริการเต็มรูปแบบปี 2568

ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งลงไปยังภาคใต้ของไทย ความก้าวหน้าในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 42.25 คาดว่าจะเปิดบริการในปี 2568 โครงการมอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการทางพิเศษพระราม3ฯ ต่อขยายไปตามถนนพระราม2 ช่วงที่1 บางขุนเทียน-เอกชัย คืบหน้าแล้วร้อยละ 77.22 ช่วงที่2 เอกชัย-บ้านแพ้วคืบหน้าร้อยละ 10.24 คาดว่าจะเปิดบริการปี 2568

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับโครงข่ายถนนสายใหม่เชื่อมโยงภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ ถนนแนวใหม่เชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม ทั้ง 2 โครงการกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2567

ทางด้านโครงการ Missing Link เพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางถนนในภูมิภาคที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2565 และอยู่ระหว่างเตรียมการตามขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงทุน ได้แก่ สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จ.สงขลาอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และ สะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งทั้งสองโครงการจะก่อสร้างระหว่างปี 2566-2568 เมื่อแล้วเสร็จจะเปลี่ยนแปลงการเดินทางของประชาชนให้ได้รับความสะดวกสบาย และสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. และอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนแล้ว ยังมีโครงการตามแผนงานในอนาคตอีกหลายโครงการ อาทิ มอเตอร์เวย์ เส้นทาง M7ส่วนต่อขยายเชื่อต่อสนามบินอู่ตะเภา, M9 วงแหวนตะวันตกช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง, M8 นครปฐม-ปากท่อ, M5 ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข(ดอนเมืองโทลเวย์) โครงการทางพิเศษ เช่น ทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย(จตุโชติ-ถ.วงแหวนรอบนอกฯ รอบที่3) ทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย และโครงข่ายเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ อุดรธานี-บึงกาฬ เพื่อเชื่อมโยงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 เป็นต้น