xs
xsm
sm
md
lg

สดร.เผยดาวอังคารก็มีวันปีใหม่รู้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า ปีใหม่ก็แล้ว ตรุษจีนก็กำลังจะมา แล้วถ้าเราไปอยู่บนดาวอังคารล่ะ จะได้ฉลองปีใหม่บ้างไหม?

แม้ว่าโลกกับดาวอังคารจะถือกำเนิดขึ้นพร้อมกันภายในระบบสุริยะแห่งนี้ ทำให้มีอายุเท่ากันที่ราว 4,500 ล้านปี โดยการนับวันและเวลาบนโลกนั้นมีการกำหนดขึ้นตามแต่ละวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั่วโลก และมีการกำหนดปฏิทินสากลที่ใช้อ้างอิงการนับเวลาสอดคล้องกันทั่วโลกนั่นคือ “ปฏิทินเกรกอเรียน” แต่สำหรับดาวอังคารที่ยังไม่มีอารยธรรมใด ๆ ของมนุษย์เกิดขึ้นบนนั้น และนักวิทยาศาสตร์ต้องการกำหนดระบบเวลาบนดาวอังคารขึ้น เพื่อใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงบนดาวอังคาร เช่น สภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ และข้อมูลทางกายภาพอื่น ๆ เทียบกับเวลาบนดาวอังคารจริง ๆ จึงเป็นที่มาของการกำหนด “ปีบนดาวอังคาร” ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา เป็นวันเริ่มต้นวันแรกของ “ปีที่ 37” บนดาวอังคาร หรือก็คือวันขึ้นปีใหม่บนดาวอังคารนั่นเอง

การนับ “ปีที่ 1” บนดาวอังคาร จะเร่ิมนับจากช่วงวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox : ช่วงที่แสงอาทิตย์ส่องลงมาตรงกับเส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์ หลังจากนี้ ซีกเหนือของดาวเคราะห์จะได้รับแสงอาทิตย์มากกว่าซีกใต้) ตรงกับวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1955 ซึ่งครึ่งหลังของ “ปีที่ 1” บนดาวอังคาร ได้เกิดพายุฝุ่นขนาดใหญ่บนดาวอังคารที่เรียกว่า “The great dust storm of 1956”

ดาวอังคารหมุนรอบตัวเองด้วยคาบ 24 ชั่วโมง 37 นาที นั่นคือระยะเวลา 1 วันของดาวอังคาร หรือ 1 Sol และดาวอังคารโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบด้วยคาบ 687 วันของโลก หรือคิดเป็น 668 Sol ซึ่งนั่นคือระยะเวลา 1 ปีบนดาวอังคาร ทำให้วันขึ้นปีใหม่บนดาวอังคารนั้น จะเกิดขึ้นทุก ๆ 687 วันตามปฏิทินบนโลกนั่นเอง โดยปีใหม่ครั้งถัดไปจะเป็น “ปีที่ 38” จะตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024

ทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงกำหนด “เลขปีบนดาวอังคาร”?

Todd Clancy นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศ (Space Science Institute) เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่อธิบายถึงระบบระบุเลขปีบนดาวอังคาร ในรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2000 ที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบนดาวอังคาร โดยเขาตั้งระบบเลขปีดาวอังคารเพื่อนับจำนวนปีของดาวเคราะห์ดวงนี้บนวงโคจร และช่วยเป็นตัวเปรียบเทียบข้อมูลในเวลาต่าง ๆ

หลังจากที่งานวิจัยของ Clancy ถูกเผยแพร่ออกไป นักวิทยาศาสตร์คนอื่นก็ได้เริ่มนำระบบเลขปีดังกล่าวมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาภูมิอากาศบนดาวอังคาร ซึ่ง Clancy และนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมวิจัยได้อธิบายไว้ว่า การเริ่มนับปีบนดาวอังคารจากวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1955 เป็นการเลือกตามใจทางคณะผู้วิจัย แต่ต่อมาได้เกิด “The great dust storm of 1956” ขึ้นภายใน “ปีที่ 1” ของดาวอังคารพอดี ทำให้ระบบการนับปีบนดาวอังคารของ Clancy ใช้ได้สะดวกในวงการนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของดาวอังคาร

การปรับปรุง “ระบบปีบนดาวอังคาร”

ในเวลาต่อมา “ระบบปีบนดาวอังคาร” เริ่มปรับให้รวม “ปีที่ 0 บนดาวอังคาร” (ตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1953) และปีบนดาวอังคารจะนับเป็น “จำนวนบวก” (หลังปี 0) และ “จำนวนลบ” (ก่อนปี 0) ทำนองเดียวกับ A.D. (คริสต์ศักราช) และ B.C. (ก่อนคริสตกาล) ในปฏิทินเกรกอเรียน

ปีบนดาวอังคาร (ตามระบบปีดาวอังคารของ Clancy) และวันที่ของ “วันปีใหม่ดาวอังคาร” แต่ละครั้ง

- ปีที่ 36 : 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2021
- ปีที่ 37 : 26 ธันวาคม ค.ศ.2022
- ปีที่ 38 : 12 พฤศจิกายน ค.ศ.2024
- ปีที่ 39 : 30 กันยายน ค.ศ.2026
- ปีที่ 40 : 17 สิงหาคม ค.ศ.2028