วันที่ 17 มกราคม 2566 เวลา 09.45 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในการจัดงาน เนื่องในวันสดุดีวีรชนกองทัพเรือ ประจำปี 2566 ณ อนุสรณ์เรือหลวงธนบุรี โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยพิธีประกอบด้วย การวางพวงมาลา อ่านคำสดุดีวีรชนกองทัพเรือ และการจัดพิธีสงฆ์ เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของวีรชนทหารเรือที่เสียสละชีวิต เพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติ ความกล้าหาญของเหล่าวีรชนยังคงอยู่ในจิตใจของทหารเรือทุกนายตราบจนปัจจุบัน
ทั้งนี้ ได้มีผู้ร่วมรบในสมรภูมิสำคัญของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 เข้าร่วมในพิธี ได้แก่ นาวาเอก ประทีป อนุมณี วีรชนจากสมรภูมิบ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส และ นาวาโท บัญญัติ ฆารกุล วีรชนจากสมรภูมิดอนน้อย กลางลำแม่น้ำโขง ชายแดนไทย – ลาว บ้านโพนลา ตำบลโพนลา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
พิธีสดุดีวีรชนและบำเพ็ญกุศลแด่วีรชนของกองทัพเรือ เป็นพิธีสำคัญที่กองทัพเรือจัดขึ้นเป็นประจำ ในวันที่ 17 มกราคม ของทุกปี เพื่อให้ทหารเรือทุกคนได้แสดงความเคารพ และระลึกถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษทหารเรือที่ได้ทำการรบอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และยอมพลีชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติจากศัตรูที่รุกรานแผ่นดินไทย ประวัติศาสตร์ได้จารึกความกล้าหาญของทหารเรือไทยในยุทธนาวีที่เกาะช้าง ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2484 โดยฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทางเรือประกอบด้วยเรือลาดตระเวนลามอตต์ปิเกต์ เป็นเรือธง เรือสลุป 2 ลำ และเรือปืน 4 ลำ เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ 1 ลำ เรือดำน้ำ 1 ลำ เข้ารุกล้ำน่านน้ำไทยบริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อจะเข้าระดมยิงหัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศ ทั้งนี้กำลังทางเรือของไทยที่รักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้นประกอบด้วย เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และ เรือหลวงสงขลา ภายใต้การบังคับบัญชาของ นาวาโท หลวงพร้อม วีรพันธุ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี แม้ว่าจะเสียเปรียบด้านกำลังรบอย่างมาก แต่วีรชนทหารเรือไทยได้ต่อสู้อย่างสุดกำลังความสามารถ จนต้องสูญเสียเรือรบทั้ง 3 ลำไป พร้อมชีวิตนายทหารและลูกเรือ รวมทั้งสิ้น 36 นาย รวมถึง นาวาโท หลวงพร้อม วีรพันธุ์ แต่เป็นที่น่าภูมิใจว่าด้วยกำลังทางเรือของกองทัพเรือไทย สามารถทำให้ข้าศึกได้รับความเสียหายจนต้องล่าถอยไปในที่สุด
สำหรับการรบครั้งสำคัญที่ทหารเรือได้พลีชีพเพื่อชาติและราชนาวี เมื่อครั้งสงครามโลก ครั้งที่ 2 กองทัพเรือได้รับมอบภารกิจจัดเรือไปบรรทุกน้ำมัน ซึ่งเป็นยุทธปัจจัยสำคัญจากสิงคโปร์มายังประเทศไทยโดยในครั้งนั้น เรือหลวงสมุย ได้ปฏิบัติภารกิจลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ทราบว่าเส้นทางลำเลียงอยู่ในเขตปฏิบัติการของเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรก็ตาม ในการเดินทางเที่ยวสุดท้าย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2488 เรือหลวงสมุย ได้ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร จนจมลงที่บริเวณนอกชายฝั่งรัฐตรังกานู ทำให้กองทัพเรือต้องสูญเสียทหารผู้กล้าไปจำนวน 31 นาย รวมถึงสูญเสียกำลังพล ในการต่อสู้ป้องกันการโจมตีทางอากาศ จากฝ่ายสัมพันธมิตรในแต่ละพื้นที่ในคราวเดียวกันนี้อีก 7 นาย
นอกจากนี้ ยังมียุทธการสำคัญที่ทำให้กองทัพเรือต้องสูญเสียทหารเรือผู้กล้าไปเป็นจำนวนมาก เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม การปราบปรามผู้ก่อการร้ายตามแผนยุทธการสามชัย จังหวัดเพชรบูรณ์ ยุทธการผาภูมิ ณ บริเวณดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย การเข้ายึดค่ายกรุงชิง จังหวัดนครศรีธรรมราช ยุทธการดอนน้อย จังหวัดหนองคาย การรบที่บ้านชำราก จังหวัดตราด เหตุการณ์เรือ ต.98 ปะทะกับเรือประมงติดอาวุธไม่ปรากฏสัญชาติที่จังหวัดระนอง รวมไปถึงการปฏิบัติภารกิจ เพื่อความสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการเสียสละ เพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยแลกไว้ด้วยชีวิตของวีรชนทหารเรือ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีชีวิตอยู่อย่างสันติสุข