วันนี้ (12 ม.ค.) กรมคุมประพฤติสรุปยอดคดีเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบการกระทำผิดซ้ำ 263 ราย คัดกรองเสี่ยงติดสุราสูง พร้อมส่งเข้าค่ายปรับพฤติกรรม – บำบัดสุรา
นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 สำนักงานคุมประพฤติ จำนวน 109 แห่งทั่วประเทศ ได้ร่วมทำหน้าที่ดูแล ควบคุม ผู้มีพฤติกรรมเมาแล้วขับหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ เพื่อเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ “เมาขับ จับติด EM” และ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” การอบรมให้ความรู้ พร้อมนำผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อมบริเวณจุดเสี่ยงอันตรายและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ตลอดจนตรวจเยี่ยมจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน ด่านตรวจ รวมทั้งสิ้นจำนวน 731 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 10,606 คน
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการควบคุมเข้มงวด ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566 มีสถิติคดีที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติ จำนวนทั้งสิ้น 8,923 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 8,567 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.01 คดีขับรถประมาท จำนวน 21 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.24 คดีขับเสพ จำนวน 335 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.75 จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 469 คดี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 388 คดี และจังหวัดนนทบุรี จำนวน 364 คดี
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 กับพ.ศ. 2566 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุราเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 699 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.88 เมื่อตรวจประวัติการกระทำความผิดคดีรับใหม่ฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา ปี 2566 เทียบกับคดีรับใหม่ใน 4 ฐานความผิดตามพรบ.จราจรทางบก ปีงบประมาณ 2563-2565 พบว่า มีผู้กระทำผิดซ้ำในฐานความผิดตามพรบ.จราจรทางบก จำนวน 263 ราย หรือคิดเป็น 3% ของจำนวนทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคดีขับรถในขณะเมาสุราในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปีงบประมาณ 2566 เทียบกับคดีรับใหม่ 2565 มีผู้กระทำผิดถูกจับกุมในฐานความผิดคดีขับรถในขณะเมาสุรา ในช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวน 15 ราย ไม่ถึงร้อยละ 1
สำหรับมาตรการคุมความประพฤติ นอกจากการปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ ได้แก่ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ทำงานบริการสังคม การพักใช้ใบอนุญาตขับรถ การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย วินัยจราจร หรือห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดแล้ว ในส่วนของการแก้ไขฟื้นฟู กรมคุมประพฤติจะดำเนินการคัดกรองด้วยแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่า มีผู้กระทำผิดที่มีพฤติกรรมการติดสุราระดับสูง จะส่งผู้กระทำผิดเข้ารับการบำบัดการติดสุรากับสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นระยะเวลา 4 เดือน ในส่วนของกลุ่มผู้กระทำผิดซ้ำจะดำเนินการเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง ร่วมกับการทำงานบริการสังคม อาทิ การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุ การช่วยเหลืองานในโรงพยาบาล และการให้ความรู้สร้างจิตสำนึก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการขับรถขณะเมาสุรา