xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ"เผย WHO ประเมินสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 มีแนวโน้มระบาดมากขึ้นทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก 'Thira Woratanarat' ระบุว่า
12 มกราคม 2566 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 328,963 คน ตายเพิ่ม 1,034 คน รวมแล้วติดไป 669,635,094 คน เสียชีวิตรวม 6,718,899 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.87 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.78

อัปเดตเรื่อง Omicron XBB.1.5

เมื่อคืนนี้ 11 มกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ข้อมูลประเมินความเสี่ยงของการระบาดจาก XBB.1.5

ล่าสุดมีรายงานการตรวจพบทั่วโลก 38 ประเทศ นับตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 11 มกราคม 2566

ประเทศที่ส่งรายงานการตรวจพบมากสามอันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก

อัตราการขยายตัวของการระบาดในสหรัฐอเมริกานั้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัปดาห์ละ 1% (ณ สัปดาห์ที่ 47) เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 8% (ณ สัปดาห์ที่ 50) ภายในสามสัปดาห์ และมีการแพร่ระบาดมากแถบตะวันออกเฉียงเหนือ

สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้ เป็นลูกหลานในตระกูล XBB ซึ่งข้อมูลปัจจุบันชี้ชัดว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่เคยมีมา โดย XBB.1.5 นั้นดื้อเทียบเท่ากับสายพันธุ์ XBB.1

ในแง่ความรุนแรงของโรคนั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าจะรุนแรงกว่า Omicron สายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่ระบาดอยู่หรือไม่

องค์การอนามัยโลกประเมินว่า สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้มีแนวโน้มที่จะระบาดมากขึ้นทั่วโลกได้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิด

ในขณะเดียวกัน Wenseleers T จากเบลเยี่ยม และ Gerstung M จากเยอรมัน ได้ทำการประเมินสมรรถนะการขยายตัวของการระบาดจาก XBB.1.5 ในทวีปต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบกัน

พบว่าปัจจุบัน XBB.1.5 มีอัตราการขยายตัวของการระบาดมากในทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป แต่ทวีปอื่นๆ ก็ยังพบการเพิ่มขึ้นในบางประเทศ ยังไม่มากนัก

...สำหรับคนไทยเรา

ควรระลึก วิเคราะห์ และเรียนรู้จากบทเรียนในรอบสองปีกว่าที่ผ่านมาที่เกิดการติดเชื้อ ป่วย และเกิดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

สัจธรรมที่เห็นคือ การจะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตได้ จำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ รับรู้รับทราบข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและทันต่อเวลา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ

และควรหาทางช่วยกันจัดการ ป้องกันไม่ให้"รากเหง้าสาเหตุ"ของความสูญเสียในอดีต กลับมาทำให้เกิดปัญหาในอนาคต

สำคัญที่สุดคือ ความมีสติ ใส่ใจสุขภาพ ป้องกันตัวสม่ำเสมอ ไม่ประมาท

ระมัดระวังกิจกรรมและสถานที่เสี่ยง แออัด คลุกคลีใกล้ชิดเป็นเวลานาน ระบายอากาศไม่ดี

การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนดจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้

หัวใจสำคัญคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก