xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ย้ำมาตรการของขวัญปีใหม่ เพิ่มเงินพิเศษ 200 บาท ผู้ถือบัตรคนจน มุ่งบรรเทาภาระค่าครองชีพ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังใช้งบประมาณ 2,600 ล้านบาท มอบของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.2 ล้านคน ด้วยการเพิ่มเงินพิเศษ 200 บาท ระยะเวลา 1 เดือน ในเดือนมกราคมนี้ ว่า การบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งครอบคลุมประชากร จำนวนกว่า 13 ล้านคน โดยเริ่มมีการให้สวัสดิการตั้งแต่ปี 2561

แบ่งเป็น สวัสดิการหลัก ได้แก่ บรรเทาค่าครองชีพ (วงเงินสิทธิค่าอุปโภค/บริโภค : จำนวน 200 บาท/คน/เดือน จำนวนประมาณ 3.5 ล้านคน และ 300 บาท/คน/เดือน จำนวนประมาณ 9.7 ล้านคน) บรรเทาค่าเดินทาง ได้แก่ ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า (500 บาท/คน/เดือน) ค่า บขส. (500 บาท/คน/เดือน) ค่ารถไฟ (500 บาท/คน/เดือน) ค่าก๊าซหุงต้ม (45 บาท/คน/3 เดือน) ค่าประปา 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าไฟฟ้า 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน และสวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายปลายปี 2561 จำนวน 500 บาท ค่าใช้จ่ายปลายปี 2562 สำหรับผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จำนวน 500 บาท สำหรับผู้มีบุตร จำนวน 300 บาท สำหรับคนพิการ จำนวน 200 บาท ผ่านช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศได้คลี่คลายลงตามลำดับ แต่ยังมีผลกระทบจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อลดแรงกดดันของปัญหาเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และทำให้ภาคส่วนต่างๆ ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางทางด้านรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สิน ถึงแม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มสูง และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มดังกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำเดือนมกราคม 2566 เป็นการชั่วคราวในระยะสั้น โดยช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรฯ) เพิ่มเติมจากเดิมอีก จำนวน 200 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 1 เดือน ในเดือนมกราคม 2566 (1) โดยผู้มีบัตรฯ ที่เดิมได้รับวงเงิน 200 บาท/คน/เดือน จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็น 400 บาท/คน/เดือน (2) ผู้มีบัตรฯ ที่เดิมได้รับวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน จะได้รับเพิ่มอีก 200 บาทรวมเป็น 500 บาท/คน/เดือน

จะเห็นได้ว่ามาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษฯ ของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนกว่า 13 ล้านคน เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ประกอบกับราคาพลังงานที่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพของผู้มีบัตรฯ และทำให้กำลังซื้อของผู้มีบัตรฯ ลดลง ซึ่งการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มดังกล่าวเป็นความห่วงใยของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งดูแลและช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มตามศักยภาพ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและงบประมาณที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริงและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยึดหลัก อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง