โครเอเชีย เข้าร่วมในกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร หรือ ยูโรโซน ตั้งแต่วันนี้ (1 ม.ค. 2566) ในฐานะสมาชิกลำดับที่ 20 ของกลุ่ม และเป็นสมาชิกลำดับที่ 27 ของเขตเชงเก้น การเดินทางโดยปลอดหนังสือเดินทางภายในยุโรป หลังจากที่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2556
โครเอเชีย ตั้งอยู่ในแถบบอลข่าน มีประชากรประมาณ 4 ล้านคน มีสกุลเงิน "คูนา" (Kuna) เป็นสกุลเงินท้องถิ่น การยอมรับเงินยูโรจะช่วยปกป้องเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัสเซียเข้าโจมตียูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ และในเดือนพฤศจิกายน อัตราเงินเฟ้อของโครเอเชียสูงถึงร้อยละ 13.5
อย่างไรก็ตาม กลุ่มฝ่ายค้านเห็นว่า การเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศขนาดใหญ่เช่นเยอรมนี และฝรั่งเศสเท่านั้น เพราะชาวโครเอเชียมีการใช้เงินทั้ง 2 สกุล ในชีวิตประจำวันมาเป็นเวลานานแล้ว และบัญชีเงินฝากร้อยละ 80 อยู่ในสกุลเงินยูโร
นายกรัฐมนตรีอันเดรย์ เปลงกอวิช แห่งโครเอเชีย กล่าวว่า การเข้าร่วมในกลุ่มยูโรโซน และเชงเก้น เป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป การเข้าสู่เชงเก้นจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี
นอกจากนี้ โครเอเชียจะยังคงใช้การควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวดทางด้านตะวันออกที่ติดต่อกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย เพื่อนบ้านนอกสหภาพยุโรป โดยมีการต่อสู้กับผู้อพยพผิดกฎหมายเป็นความท้าทายหลักในการปกป้องพรมแดนทางบกภายนอกที่ยาวที่สุดของสหภาพยุโรปถึง 1,350 กิโลเมตร