xs
xsm
sm
md
lg

ฉีดวัคซีน MRNA เข็ม 4 กระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันแบบผสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจเฟซบุ๊ก "Center for Medical Genomics" โพสต์ระบุว่า ข่าวดี งานวิจัยล่าสุดจากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล แคนาดาแสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันแบบผสม (hybrid immunity) อันเกิดจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น “เอ็มอาร์เอ็นเอ” เข็มที่ 4 ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส 3 เข็มตามด้วยการติดเชื้อตามธรรมชาติ (breakthrough SARS-CoV-2 infection) จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งต่อต้านการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ BQ.1.1 ได้ดีขึ้น
นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 สายตระกูลโอมิครอนเมื่อปลายปี 2564 พบว่าโอมิครอนได้มีการวิวัฒนาการกลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยมากมายที่ดื้อต่อยาฉีดต้านไวรัสประเภทสร้างภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (โมโนโคลนอลแอนติบอดี) และดื้อต่อวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนที่อาศัยไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA COVID-19 vaccine)

ศาสตราจารย์อันเดรส ฟินซี (Andres FINZI) ภาควิชาจุลชีววิทยา โรคติดเชื้อและวิทยาภูมิคุ้มกัน และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดาได้นำเสนอผลงานวิจัย แสดงให้เห็นว่า

กลุ่มผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA COVID-19 vaccine) ของไฟเซอร์ (Pfizer) หรือโมเดอร์นา (Moderna) ครบโดส 3 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันที่ด้อยประสิทธิภาพในการเข้าจับและทำลายโอมิครอน โดยเฉพาะโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับการเข้าจับและทำลายโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม เช่น ไวรัสอู่ฮั่น อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา
อย่างไรก็ดีพบว่าในกลุ่มที่เคยรับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอครบโดสและต่อมามีการติดเชื้อตามธรรมชาติ (breakthrough SARS-CoV-2 infection, BTI) เมื่อได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 4 ไม่ว่าจะเป็น

1. วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา รุ่นแรก ซึ่งใช้หัวเชื้อเป็นโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม, ไวรัสอู่ฮั่น (Monovalent Vaccine Booster Shot) หรือ

2. วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา รุ่นที่สอง (bivalent Vaccine Booster Shot) โดยหัวเชื้อที่ใช้เป็นโควิดสองสายพันธุ์ คือสายพันธุ์ดั้งเดิม, ไวรัสอู่ฮั่น และ โอมิครอน BA.4/BA.5 (ไฟเซอร์) หรือ โอมิครอน BA.1 (โมเดอร์นา) จะสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ เช่น BQ.1.1 ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 4 เข็มในลักษณะที่กล่าวข้างตันแต่ไม่เคยติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยประเมินว่าด้วยการฉีดวัคซีนในลักษณะนี้สามารถป้องกันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่อุบัติใหม่สายพันธุ์อื่นอาทิ XBB ได้ด้วยเช่นกัน

วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอรุ่นที่สองแม้จะยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ที่ไม่ครอบคลุม (Narrow-Spectrum Anti-coronavirus Vaccines) แต่ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในช่วงที่การพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่ครอบคลุมสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่ที่จะอุบัติขึ้นในอนาคต (Broad-Spectrum Anti-coronavirus Vaccines) ยังไม่แล้วเสร็จ

สรุปว่าสำหรับหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่แม้ประชาชนส่วนใหญ่ได้วัคซีนจนครบโดส 3 เข็มแต่กลับพบว่าประชนจำนวนมากได้ทยอยติดเชื้อตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ในอนาคตอีก 4-6 เดือนข้างหน้าได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอโดยเฉพาะวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอรุ่นที่สอง (bivalent Vaccine Booster Shot) อาจทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนสายตระกูล BQ.1.1 หรือ XBB ที่คาดว่าจะมีการระบาดใหญ่ในปีหน้า 2566 ได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง