รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า (รายงานข่าว) "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขข้อข้องใจน้ำยาปรับผ้านุ่ม ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม จริงหรือไม่ ระบุ " น้ำยาปรับผ้านุ่ม (และอีกหลายอย่าง) ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม ครับ"
มีคนแชร์โพสต์นี้กันเยอะมาก ซึ่งก็มาจากเพจ Santi Manadee ที่ให้ความรู้ทางสุขภาพผิดๆ มาหลายครั้งแล้ว รวมทั้งเรื่องที่อ้างว่า "น้ำยาปรับผ้านุ่มก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม" เนี่ย (ซึ่งไม่จริง) โดยโพสต์ล่าสุดของเขานี้ ใช้วิธีเขียนยาวๆ โยงสารพัดปัจจัยที่อ้างว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม แล้วแฝงการโฆษณาขายอาหารเสริมของตน ซึ่งบางอันก็จริง แต่หลายอันก็ไม่จริง (โดยเฉพาะเรื่องน้ำยาปรับผ้านุ่ม) เลยทำให้คนจำนวนมากหลงเชื่อแชร์กันใหญ่
เอาเป็นว่า ขอรีโพสต์บทความที่เคยเขียนไว้ และขอเอาข้อมูลจากเว็บไซต์ของ American Cancer Society สมาคมโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา มาสรุปให้ฟังดีกว่านะครับ ว่าตกลงมีอะไรบ้างกันแน่ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม อะไรที่ยังไม่ชัดเจน และอะไรที่ไม่เกียว (แต่ชอบเชื่อกันผิดๆ ว่าเกี่ยวข้อง)
(รีโพสต์) "น้ำยาปรับผ้านุ่ม ไม่ได้อันตรายต่อสุขภาพ"
บทความนี่ก็แชร์กันไปใหญ่อีกแล้ว บอกว่า มีคำเตือนจาก "หมอนอกกะลา Santi Manadee" ว่าห้ามใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เพราะมีสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง จะทำให้ลูกสาวใจแตกก่อนวัย ลูกชายจะไม่เป็นชาย รวมทั้งมีสารเคมีอันตรายอื่นๆ อีกเยอะแยะเลย !?
.... มั่วซิครับ ! น้ำยาปรับผ้านุ่มมีสารฮอร์โมนเพศหญิงซะที่ไหน สารอื่นๆ ที่ว่านั้น ก็ไม่ได้จะมีอันตรายอย่างนั้น (ดูคำอธิบายข้างล่าง)
เรื่อง "เตือนให้ระวังการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้" โดยทางศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ได้ไปสอบถามตรวจสอบกับ รศ.ดร.กาวี ศรีกูลกิจ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ได้คำสรุปว่า
- น้ำยาปรับผ้านุ่มประกอบด้วยสารเคมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่ทำให้ผ้านุ่ม ได้แก่ กรดไขมันที่ได้จากสัตว์ เมื่อสัมผัสผิวผ้าจะทำให้เกิดความนุ่ม ไม่แข็ง (ไม่ใช่ กรดน้ำมัน อย่างที่ไปแชร์กัน) และสารที่ให้กลิ่นหอม ติดทนนาน / ซึ่งปัจจุบันใช้แค่สาร "เอทิลอะซีเตท-เบนซิลอะซีเตท" เพราะไม่เป็นอันตราย / ส่วนสารอื่นๆ ที่แชร์ในคลิปได้แก่ "มัสไซลีน" เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบกลิ่นจากกวาง ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว / "คลอโรฟอร์ม-เบนซิลแอลกอฮอล์" ปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้เช่นกัน หรือหากมีสารอันตรายอื่นๆ ก็จะถูกกำจัดระหว่างกระบวนการผลิต
นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์ ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าหน่วยผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า
- น้ำยาปรับผ้านุ่มมีส่วนทำให้เกิดสารตกค้างในผ้า แต่มีปริมาณที่น้อยมาก การสวมใส่เสื้อผ้าบนผิวหนังจึงไม่มีสารที่ซึมเข้าสู่เลือดจนส่งผลต่อฮอร์โมน ยกเว้นคนที่มีอาการแพ้ เกิดผื่น หากเปลี่ยนยี่ห้อแล้วหาย
สรุปว่า น้ำยาปรับผ้านุ่ม นั้นไม่ได้อันตรายต่อการเอามาใช้หลังซักผ้าอย่างที่แชร์กันผิดๆ นะครับ