xs
xsm
sm
md
lg

“ทานูรี”ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของเกาหลีใต้ เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า“ทานูรี” (Danuri) ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของเกาหลีใต้ ได้เดินทางถึงดวงจันทร์แล้ว หลังจากการเดินทางยาวนาน 4 เดือน ซึ่งยานเริ่มปรับวงโคจรรอบดวงจันทร์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.2022 เวลา 00:45 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

จากประกาศของสถาบันวิจัยการบินอวกาศเกาหลี (KARI) การปรับวิถีครั้งนี้เป็นการจุดจรวดครั้งแรกจากทั้งหมด 5 ครั้ง ในช่วงวันที่ 17 - 28 ธันวาคม ค.ศ. 2022 เพื่อปรับวงโคจรรอบดวงจันทร์จากวงโคจรรูปวงรีให้เป็นวงกลมที่เสถียร และสามารถสำรวจดวงจันทร์ในเชิงวิทยาศาสตร์ได้อย่างแม่นยำ

ยาน “ทานูรี” หรือในอีกชื่อว่า KPLO (Korea Pathfinder Lunar Orbiter) มีมวล 678 กิโลกรัม ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 2022 ด้วยจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของ SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ จากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ก่อนที่จะเดินทางเป็นระยะทางไกลกว่า 5.4 ล้านกิโลเมตร ก่อนถึงดวงจันทร์

ยานทานูรีไม่ได้เดินทางสู่ดวงจันทร์โดยตรง แต่จะใช้วิธีปล่อยยานไปยังบริเวณที่ไกลกว่าวงโคจรดวงจันทร์ ก่อนที่ยานจะโคจรเข้ามาใกล้ดวงจันทร์ (เรียกวิถีส่งยานแบบนี้ว่า Ballistic lunar transfer orbit) ซึ่งจะประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิงในการเดินทาง แต่ใช้เวลาเดินทางค่อนข้างนาน (134 วัน) เมื่อยานทานูรีปรับวงโคจรรอบดวงจันทร์ตอนปลายเดือนธันวาคมเสร็จแล้ว ยานจะมีวงโคจรรูปวงกลมที่มีระดับความสูงเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 100 กิโลเมตร

ภารกิจยานทานูรี เป็นภารกิจสำรวจอวกาศครั้งแรกของเกาหลีใต้ที่อยู่นอกวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ (แบบดาวเทียมต่าง ๆ) ด้วยงบประมาณเกือบ 6,400 ล้านบาท (180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตัวยานบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 6 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้ 5 ชิ้นพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ ได้แก่
- กล้องถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์
- กล้องถ่ายภาพมุมกว้างสำหรับวิเคราะห์ชนิดวัสดุบนพื้นผิวดวงจันทร์
- เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็ก
- เครื่องวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีแกมมา
- อุปกรณ์ทดสอบเทคโนโลยีระบบอินเตอร์เน็ตในห้วงอวกาศ

ส่วนอุปกรณ์ตัวที่ 6 คือ “ShadowCam” อุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีความไวแสงสูงขององค์การนาซา เพื่อศึกษาน้ำแข็งบริเวณก้นหลุมอุกกาบาตที่อยู่ใต้เงามืดอย่างถาวร ซึ่งข้อมูลที่ได้จากกล้องตัวนี้จะช่วยสนับสนุนโครงการอาร์ทีมิส (Artemis) ของนาซา ที่มีเป้าหมายเพื่อการอยู่อาศัยของมนุษย์อย่างยั่งยืนบนดวงจันทร์

ยานทานูรียังเป็น “ก้าวแรก” ในความฝันอันทะเยอทะยานสู่ดวงจันทร์ของเกาหลีใต้ ที่ตั้งเป้าว่าจะส่งยานหุ่นยนต์ลงจอดบนดวงจันทร์จันทร์ในปี ค.ศ. 2032 และยานสู่ดาวอังคารในปี ค.ศ. 2045