นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) วงเงิน 25,000 ล้านบาท ภายใต้มาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 2 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 – 30 มิถุนายน 2568 (จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธ.ค.65) หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน
พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการ อาทิ ขยายพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น และอนุมัติงบประมาณวงเงิน 1,250 ล้านบาท สำหรับชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสินในการดำเนินโครงการด้วย
นางสาวรัชดา กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจ เกิดความมั่นใจในการประกอบกิจการ และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี และธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรงในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี โครงการนี้ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2565 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว (ณ 24 พ.ย.2565) จำนวน 4,890 ราย รวมวงเงิน 20,872 ล้านบาท จากวงเงินโครงการทั้งหมด25,000 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือจำนวน 4,128 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการให้สินเชื่อต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการส่วนใหญ่ยังคงเดิม แต่มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์บางประการ อาทิ
1. คุณสมบัติของผู้สินเชื่อ - ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย จากเดิมที่ให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการในจังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และ ผู้ขอสินเชื่อต้องเป็นผู้ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อตามโครงการ หรือเคยได้รับสินเชื่อตามโครงการมาแล้วไม่เกิน 5 ปี เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
2. กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดวงเงินกู้ต่อราย
3.รัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสิน ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,250 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง