นายชาญ นริธ ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา แถลงการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะใช้จ่ายเงินรวมทั้งสิ้น 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.07 พันล้านบาท สำหรับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และอีก 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 520 ล้านบาท สำหรับครอบครัวที่ประสบอุทกภัยเมื่อไม่นานนี้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์
คำสั่งที่ลงนามโดยสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชี้ว่ากระทรวงการวางแผนของประเทศเป็นผู้คัดเลือกครัวเรือนที่ได้รับเงินสดข้างต้นตามพื้นที่อาศัย
โดยครัวเรือนที่อาศัยในกรุงพนมเปญ จะได้รับเงิน 25 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 866 บาท) โดยสมาชิกในครอบครัวจะได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 7 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 242 บาท) ครัวเรือนในต่างจังหวัด จะได้รับเงิน 22 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 762 บาท) โดยสมาชิกในครอบครัวจะได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 6 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 208 บาท) ส่วนครัวเรือนในชนบท จะได้รับเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 693 บาท) โดยสมาชิกในครอบครัวจะได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 173 บาท)
ขณะครัวเรือนที่ประสบเหตุอุทกภัยเมื่อไม่นานนี้ในกรุงพนมเปญ และอีก 15 จังหวัด จะได้รับเงินครัวเรือนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 693 บาท) โดยสมาชิกในครอบครัวจะได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 4 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 138 บาท)
ทั้งนี้ ธนาคารโลกระบุในรายงานเศรษฐกิจกัมพูชาว่า ราคาพลังงาน ปุ๋ย และอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก กระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อในกัมพูชาพุ่งสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคพุ่งแตะ 7.8% ในเดือนมิถุนายน แต่ลดลงเหลือ 4.9% ในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อครัวเรือนยากจนโดยเฉพาะ