xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เดินหน้าโครงการต้นแบบ 95 โรงเรือนเกษตรอัจฉริยะทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ในทุกภูมิภาค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายพัฒนาศักยภาพแรงงานทุกกลุ่ม และมีความห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งผลกระทบด้านพลังงาน ผลกระทบด้านการผลิต จึงต้องการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงมีนโยบายและมุ่งมั่นยกระดับเกษตรกรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพด้านเกษตร เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในทุกมิติ

แต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการและแรงงานในภาคเกษตรด้วย นายกรัฐมนตรี จึงมอบนโยบายไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ดำเนินการพัฒนาฝีมือเพื่อเข้าตลาดแรงงานนี้โดยเร่งด่วน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงได้ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงการพิเศษเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานภาคการเกษตรสู่เกษตรอัจฉริยะ มีเป้าหมาย 95 โรงเรือนทั่วประเทศ และให้แรงงานภาคการเกษตรมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะในปี 2566 จำนวน 32,300 คน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกแบบมีโรงเรือน เช่น ระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการปลูกพืช การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ระบบพ่นหมอก ระบบกักเก็บหรือจัดน้ำ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้เพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ตามเป้าหมาย โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถสมัครได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4


น.ส.ทิพานัน กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับภาคเกษตร ต้องการให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เพียงพอในอนาคต ที่สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับกับความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ผ่านกลไกของหน่วยงานต่างๆ ที่บูรณาการอย่างครบวงจร และเป็นรูปธรรม สะท้อนความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผู้ประกอบการภาคเกษตร มีความเข้มแข็ง มีรายได้ดีขึ้น เกิดการกระจายรายได้ไปสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมกับมีตัวชี้วัดหรือมีสถาบันรองรับฝีมือแรงงานนั้นๆ ที่จะสามารถนำไปสู่ทักษะวิชาชีพที่มีอัตราค่าแรงที่สูงขึ้นในอนาคตได้ด้วย