xs
xsm
sm
md
lg

"ประวิตร" ประชุม ปคม.-ปกค.ย้ำปราบค้ามนุษย์เข้มข้น ยกไทยขึ้นเป็น เทียร์1 ในปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วันนี้ (9 ธ.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม 2 คณะต่อเนื่อง เริ่มจากประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ครั้งที่ 3/2565 และประชุมคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปกค.) ครั้งที่ 5/2565 ที่ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

การประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) นั้น มีรายงานความก้าวหน้า การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย (ดอนเมือง) โดย สตช. ซึ่งประกอบด้วย การปรับปรุงอาคารศูนย์ฝึกอบรมฯ และการพัฒนาระบบศูนย์คัดแยกฯ ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความสนใจ และพล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism :NRM) ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ย้ำว่า ให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจและดำเนินการให้เป็นไปตาม NRM อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ประจำปี 2565 และกรอบเวลาการจัดทำรายงาน ซึ่งมีผลการดำเนินงานคืบหน้าที่สำคัญ ทั้งด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ด้านช่วยเหลือคุ้มครอง และด้านการป้องกัน รวมทั้งได้เห็นชอบแต่งตั้ง พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชารยะ ให้เป็นประธานอนุกรรมการร่วม ว่าด้วยการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (ฝ่ายไทย) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมาย ตามข้อตกลงร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย

ส่วนการประชุม ปกค.นั้น มีการพิจารณาเห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ และคณะกรรมการผู้ชำนาญการระดับภาคหรือระดับหน่วยงาน และการขยายระยะเวลาการดำเนินงานจาก 60 วัน เป็น 90 วัน รวมทั้งเห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจกำกับและติดตามการดำเนินงานช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตามหลักมนุษยธรรม

พล.อ.ประวิตร เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้น ควบคู่การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย และให้สหรัฐฯ เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไทยต่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อชาวโลก รวมถึงการที่ไทยมีความพยายามยกระดับขึ้นเป็น เทียร์1 ในปี 2566 ด้วย