xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ พ.ย.65 ชะลอตัวต่อเนื่องเดือนที่ 3 คงเป้าเงินเฟ้อทั้งปีที่ 5.5-6.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 107.92 เพิ่มขึ้น 5.55% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.13% จากเดือนตุลาคม 2565 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 6.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 103.92 เพิ่มขึ้น 3.22% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.13% จากเดือนตุลาคม 2565 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร โดยผักสด เช่น ผักกาดขาว ผักคะน้า ฟักทอง คึ่นฉ่าย ราคาลดลง เพราะมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ไว้ที่ 5.5-6.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 6.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ปีนี้อยู่ที่ 2.7-3.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 90-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 33.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือน ต.ค.65) จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2565 โดยคาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) สินค้ากลุ่มอาหาร (อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป) และค่าโดยสารสาธารณะ ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ตลอดจนมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จะเป็นปัจจัยที่อาจลดทอนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือได้ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป