นายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ให้องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน ที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนโดยกรมควบคุมโรค ร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น (หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั้น
ความคืบหน้าล่าสุด มีการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว 17 แห่ง และอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนอีก 5 แห่ง คาดว่าจะมีองค์กรที่เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 60 แห่ง โดยได้มีการจัดประชุมชี้แจงความคืบหน้าการอบรมและรับรององค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่จัดบริการเอชไอวี
นายแพทย์รัฐพล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเอดส์โลก สปสช. ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประกาศเจตนารมณ์ "U=U : ระบบสุขภาพต้องเท่าเทียมกัน ผู้ติดเชื้อต้องเท่าเทียมกันทุกคน" เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีตามหลักการ U=U (Undetectable = Untransmittable) หรือ ตรวจไม่พบเชื้อ = ไม่ถ่ายทอดเชื้อ ส่งเสริมให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีคงอยู่ในระบบการรักษา