นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่ากระกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ร้อยละ 0.10 ของมูลค่าขาย ตามธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในครั้งนี้ จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 บวกกับภาษีท้องถิ่นร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมเป็นภาระภาษี ร้อยละ 0.11 รัฐบาลได้มีระยะเวลาให้นักลงทุนได้ปรับตัว
การเริ่มบังคับใช้ หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน จากนั้นวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 จะเริ่มเก็บภาษี เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาปรับตัว จึงแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในปีแรกของการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปี 2566 จัดเก็บร้อยละ 0.05 บวกกับภาษีท้องถิ่นร้อยละ 0.005 รวมเป็นร้อย 0.055 ขายหุ้น 1,000 บาท เสียภาษีเพียง 55 สตางค์ หรือว่าขายหุ้น 10,000 บาท เสียภาษี 5.5 บาท หลังจากนั้น ในปี 2567 รวมกับภาษีท้องถิ่นแล้ว จัดเก็บภาษีร้อยละ 0.11 เช่น นักลงทุนขายหุ้น 1,000 บาท เสียภาษี 1.1 บาท
นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกเว้นภาษีจากการขายหุ้น ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน กบข. กองทุนประกันสังคม และโบรกเกอร์ ผู้ทำหน้าที่ Market Maker ในการกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงแรก เพื่อดูแล และสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ IPO เนื่องจากโบรกเกอร์ดังกล่าวไม่ได้เป็นนักลงทุน แต่เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นเข้าตลาดฯ โดยมูลค่าการซื้อขายหุ้นแต่ละวัน ของนักลงทุนรายใหญ่ร้อยละ 11 มีสัดส่วนต่อตลาดทั้งหมดสัดส่วนร้อยละ 95 นับว่านักลงทุนรายใหญ่เป็นนักลงทุนหลัก ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่เหลือร้อยละ 89 มีมูลค่าเล็กน้อยเพียงร้อยละ 5 ของมูลค่าซื้อขายแต่ละวัน นับว่าการเสียภาษีของรายย่อยจึงไม่สูงมากนัก
สำหรับการซื้อขายหุ้นในตลาดรอง เมื่อซื้อขายในตลาดหุ้นแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ตัวแทนผู้ขายหุ้นจะทำหน้าที่ชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร นักลงทุนไม่ต้องยื่นแบบภาษีจากการขายหุ้นดังกล่าว และยืนยันไม่ได้เก็บภาษีจาก Capital Gain หรือกำไรจากการขายหุ้น เพราะบางประเทศจัดเก็บทั้งสองแบบ ทั้งยอดขายและกำไรจากการขาย แต่ไทยเลือกเก็บเฉพาะยอดขายหุ้น กระทรวงคลังคาดว่าจะ มีรายได้เข้าคลังประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท จากภาษีอัตราร้อยละ 0.11