นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ได้ตรวจสอบเหตุวาตภัย ลูกเห็บตก ที่บ้านแพะใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง วานนี้ (29 พ.ย.) เวลา 15.00 น. พบว่าเกิดขึ้นจริง พร้อมกันนี้ยังตรวจภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งแสดงเมฆที่ก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนองและลูกเห็บบริเวณอำเภอวังเหนือ จากรายงานเบื้องต้นของป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยลำปาง ระบุว่า ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต บ้านเรือนไม่ได้รับความเสียหาย แปลงนาข้าวส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยมีข้าวที่ตากไว้ของเกษตรกรบางรายได้รับความเสียหายเล็กน้อย
ทั้งนี้ ลูกเห็บ เป็นหยาดน้ำฟ้าที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับอากาศที่ปั่นป่วนรุนแรง มักจะเกิดขึ้นจากพายุฝนฟ้าคะนองที่มีความเมฆสูงมาก หรือที่รู้จักกันคือ เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ที่มีทั้งกระแสอากาศไหลขึ้นและกระแสอากาศไหลลงรุนแรง กระแสอากาศที่เคลื่อนที่ขึ้นไปในระดับสูงมาก ทำให้หยดน้ำเริ่มแข็งตัวเป็นหยดน้ำแข็ง มีหยดน้ำอื่นๆ รวมเข้าด้วยกันสะสมจนมีขนาดโตขึ้น จนกระทั่งเมื่อกระแสอากาศพยุงรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ จะตกลงมาในลักษณะเป็นก้อน มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 5-50 มิลลิเมตร หรือ 0.2-2.0 นิ้ว แต่ในบางครั้งอาจมีขนาดโตกว่าและอาจตกลงมาเป็นก้อนๆ หรือเกาะรวมกันเป็นก้อนขรุขระ
ในประเทศไทย ลูกเห็บมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองในฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ที่ตกในฤดูหนาวปีนี้เป็นเพราะสภาพอากาศแปรปรวน