รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 29 พฤศจิกายน 2565
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 174,759 คน ตายเพิ่ม 778 คน รวมแล้วติดไป 646,366,341 คน เสียชีวิตรวม 6,637,358 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล ไต้หวัน และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 76.25 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.93
ลักษณะสายพันธุ์ย่อยในออสเตรเลีย
Esterman A. ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ระบาดในออสเตรเลียขณะนี้ พบว่าเป็นไปในลักษณะหลากหลายสายพันธุ์แบบ variant soup
โดยมีทั้ง BA.5 39%, BA.2.75 26%, BQ.1 19%, XBB 4% และอื่นๆ
ลักษณะดังกล่าว เป็นที่คาดการณ์กันว่าประเทศอื่นๆ ก็จะเป็นไปในลักษณะนี้ โดยมีสายพันธุ์ย่อยใหม่ที่น่ากังวลได้แก่ BQ.1.x, XBB, BA.2.75.x ที่อาจมีสัดส่วนสูงแตกต่างกันไปในแต่ละทวีป และจะมาเทคโอเว่อร์ BA.5 ในเวลาไม่นาน ทั้งนี้ BQ.1.x จะครองสัดส่วนนำในอเมริกาและยุโรป ส่วน BA.2.75.x และ XBB จะเด่นในแถบเอเชีย
การระบาดในไทยเรามีแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางข้างต้น
ตีระฆังเตือนยืนยันเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
ทีมงานของ David Ho จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยใน bioRxiv เมื่อวานนี้ 28 พฤศจิกายน 2565
ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.x และ XBB นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีน และการที่เคยติดเชื้อมาก่อน มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้อย่างมาก
แม้ข้อมูลทางคลินิกในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะทำให้ป่วยรุนแรงมากขึ้นกว่าสายพันธุ์ที่เคยระบาดเดิม
แต่สมรรถนะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่มากขึ้นนั้น ย่อมส่งผลทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นหรือแพร่กันได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ประการนี้เอง ที่เป็นตัวตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เลี่ยงสถานที่แออัดระบายอากาศไม่ดี รักษาความสะอาด และเว้นระยะห่างจากคนอื่น
Personal protective behaviors เป็นเกราะป้องกันที่สำคัญที่สุด
ทางเดินประวัติศาสตร์การแพร่ของแต่ละสายพันธุ์
โควิด-19 แพร่ระบาดมาหลายปี โดยมีสายพันธุ์ที่หลากหลาย
หากเปรียบเทียบกันตัวต่อตัว จะพบว่า ในระยะเวลา 100 วันแรกของการระบาด สายพันธุ์ Omicron นั้นแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อน ถึง 5 เท่า
แต่ละระลอกที่ผ่านมา ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม (Wuhan: Wild type), เบต้า, แกมม่า, อัลฟ่า, เดลต้า, และ Omicron นั้น ก็มีลักษณะของทวีปที่มีการระบาดหนักก่อนกระจายไปยังทวีปอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป
สำหรับระลอกอนาคตนั้น ลักษณะการระบาดน่าจะมีแนวโน้มแตกต่างไปจากอดีต เพราะมีปัจจัยเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศเกิดขึ้นมาก การระบาดจะเป็นลักษณะหลากหลายสายพันธุ์ แปรผันกับการนำเข้าส่งออก รวมถึงสมรรถนะของไวรัสแต่ละสายพันธุ์ พฤติกรรมการป้องกันตัวและการใช้ชีวิตของประชากร ชนิดและความครอบคลุมของวัคซีนที่ใช้ และอื่นๆ
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งในแง่จำนวนการติดเชื้อ การป่วย การตาย และ Long COVID นั้น จึงมีโอกาสสูงที่จะแปรผันกับนโยบายควบคุมป้องกันโรค และความพร้อม"จริง"ของระบบสาธารณสุขของประเทศนั้น ทั้งเรื่องยาที่ได้มาตรฐาน วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ บริการดูแลต่างๆ ว่าประชาชนในประเทศจะเข้าถึง และพึ่งพาได้หรือไม่ ยามที่เกิดปัญหา
ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาของทุกสังคมคือ ยามวิกฤติ ประชาชนสามารถพึ่งพาและได้รับความช่วยเหลือดูแลอย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพ โดยทั่วถึงกัน
ไม่ต้องเผชิญกับภาวะสิ้นหวัง รอคอย จนต้องดิ้นรนทุบกระปุกขวนขวายหาทางรอดกันเอาเองแบบอัตตาหิ อัตตโน นาโถ
สถานการณ์ปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต
ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ทั้งช่วงทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว
ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. Wang Q et al. Alarming antibody evasion properties of rising SARS-CoV-2 BQ and XBB subvariants. bioRxiv. 28 November 2022.
2. Tegally H et al. Global Expansion of SARS-CoV-2 Variants of Concern: Dispersal Patterns and Influence of Air Travel. medRxiv. 27 November 2022.