xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ฯ ให้บริการตรวจปริมาณกัญชาในพลาสมาและปัสสาวะผู้ป่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยสารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชา คือ THC และ CBD หากนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ยังไม่มีขนาดกำหนดในการนำไปใช้ที่ชัดเจน โดยแพทย์จะเริ่มสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยในปริมาณน้อยและปรับขนาดเพิ่มขึ้น ตามการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้พัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจปริมาณกัญชาในพลาสมาและปัสสาวะของผู้ป่วยที่ได้รับกัญชา ทั้งจากการใช้กัญชาเพื่อการรักษาและการได้รับกัญชาในรูปแบบอื่น เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายปริมาณยากัญชาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ สำหรับการตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาขึ้นนี้เป็นวิธีการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญและเมตาบอไลต์ของกัญชาในพลาสมา ได้แก่ THC, 11-OH-THC และ CBD โดยใช้เครื่องมือชั้นสูงด้วยเทคนิค LC-MS, GC-MS และ GC-MS/MS ซึ่งเป็นวิธีที่มีความละเอียดในการหาปริมาณของกัญชาในพลาสมา และได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นมา โดยมีอัตราค่าตรวจวิเคราะห์ 1,400 บาทต่อตัวอย่าง ระยะเวลาในการตรวจ 1-3 วันทำการ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลสามารถส่งตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั่วประเทศ นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังเปิดให้บริการการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณ 11-Nor-delta 9-tetrahydrocannabinol carboxylic acid (11-Nor-delta-9-THC COOH) ซึ่งเป็นเมตาบอไลต์หลักของกัญชา ที่ตรวจพบในปัสสาวะ มีอัตราค่าตรวจวิเคราะห์ 700 บาทต่อตัวอย่าง ระยะเวลาในการตรวจ 3-7 วันทำการ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล สามารถส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ได้ที่ สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการติดต่อและส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำคู่มือการส่งตรวจกัญชาในพลาสมาและปัสสาวะ ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบฟอร์มการนำส่งตัวอย่าง การเก็บและส่งตัวอย่าง อัตราค่าตรวจวิเคราะห์ รวมถึงช่องทางการติดต่อสอบถาม เป็นต้น ทั้งนี้ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่จะส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อศึกษารายละเอียดในคู่มือดังกล่าวได้